หอการค้าอีสาน20จังหวัดพร้อมลุยแผน"เปิดเมือง"ฟื้นเศรษฐกิจ

08 ก.ย. 2564 | 10:46 น.

 หอการค้าอีสาน 20 จังหวัดเตรียมพร้อมแผนเปิดเมือง ขับเคลื่อน 4 มิติฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมอีสาน เกษตรสมัยใหม่สร้างมูลค่าเพิ่ม ท่องเที่ยวชุมชนเต็มพื้นที่ ต่อยอดกิจกรรมเศรษฐกิจต่อเนื่องโลจิสติกส์จากรถไฟจีน-ลาว และทำงานคู่ภาครัฐดูแลทรัพยากรน้ำ มุ่งอีสานไร้คนจนใน 5 ปี 

นายสวาท  ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนก.ย.นี้ ได้จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของหอการค้า 20 จังหวัดภาคอีสาน/หอการค้าจังหวัด 20 แห่งของภาคอีสาน ผ่านทางระบบ ZOOM  

เพื่อขับคเลื่อนการปฎิรูปเศรษฐกิจของภาคอีสาน รวมทั้งการให้ทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมในการเปิดเมืองและปรับตัวสู่ชีวิตวิถีปกติใหม่ หลังผ่อนคลายมาตรการคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม
    

ทั้งนี้ ภาคอีสานไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงการระบาดเชื้อโควิด-19 แม้พบว่ามีการติดเชื้อรายใหม่อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมาจากการรับคนพี่น้องประชาชน ที่เดินทางไปทำงานส่วนกลางและปริมณฑล กลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด  และในภาพรวมเวลานี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ

เห็นได้จากที่ ศบค.ใหญ่ ประกาศผ่อนปรนให้มีการเดินทางออกจากพื้นที่เสี่ยงสูงได้ โดยต้องเป็นไปตามมมาตรการรักษาความปลอดภัย  สายการบินภายในประเทศก็เปิดให้ทำการบินแล้ว จากนี้คือการขับเคลื่อนฟื้นเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ ซึ่งต้องประสานงานกับศบค.จังหวัดในแต่ละพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดเมืองเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

นายสวาท  ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน มีแนวคิดเปิดเมืองไปประสานงานกับพื้นที่เพื่อเตรียมการแล้ว สำหรับหอการค้าอุดรธานี ได้แจ้งแนวคิดดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ให้มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดเมืองอุดรธานี ในวันที่ 15 ต.ค.2564 
    

โดยแนวทางพัฒนาฟื้นฟูการเกษตร เนื่องจากภาคอีสานภาคเกษตรเป็นฐานหลัก มีพืชผลการเกษตรสำคัญหลายตัว เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ต้องปรับเปลี่ยนการเกษตรภาคอีสานจากวิถีเดิม ให้เป็นเกษตรรูปแบบสมัยใหม่ ยกระดับให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น สอดรับกับการเป็นประตูสู่ตลาดต่างประเทศในภูมิภาค ต้องพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการตลาด ใช้องค์ความรู้เกษตรใหม่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง 

ด้านการท่องเที่ยว ได้มอบแนวคิดที่ว่าถึงแม้อีสานไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลักเหมือนพื้นที่อื่น แต่อีสานก็มีต้นทุนการท่องเที่ยวที่หลากหลายมิติ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ทางธรรมชาติ หรืออารยธรรม จากรากเหง้าที่มีประวัติศาสตร์มายาวยาน ก่อเกิดเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลายทางเชื้อชาติชนเผ่าในแต่ละพื้นที่  

โดยเฉพาะการท่องเที่ยว 7 จังหวัดตามริมแม่น้ำโขง ที่มีความเชื่อมโยงไปกับประเพณีวัฒนธรรมของประเทศเพื่อบ้าน ทั้ง ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติและหอการค้าไทย ทุกพื้นที่สามารถใช้จุดเด่นของตนพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมาได้ โดยใช้ความเป็นอีสานนำหน้าการตลาด คือ เป็นเจ้าบ้านที่ดี มีมิตรไมตรี ยินดีต้อนรับสู่"เฮือนเฮา" เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่อีสานแบบบอกต่อ
    

มิติต่อมาคือ ต่อยอดสร้างโอกาสจากความเปลี่ยนแปลง เช่น กลุ่มจังหวัดสบายดีในพื้นที่อีสานตอนบน ที่มีอุดรธานีเป็นศูนย์กลาง เป็นพื้นที่ที่เป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน กำลังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ การเปิดใช้โครงการรถไฟจีน-ลาว ที่จะเชื่อมเวียงจันทน์-คุนหมิง ในเดือนธ.ค.    2564 นี้ ซึ่งจะเสริมศักยภาพที่สำคัญในทุกด้าน โดยเฉพาะการค้า การเดินทางท่องเที่ยว การขนส่ง 
  

 "อุดรฯเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าเพื่อส่งออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว เมื่อเปิดการเดินรถไฟจีน-ลาวในอนาคต  พื้นที่อุดรธานีก็ยิ่งจะเป็นศูนย์กลางในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางราง จากโครงการรถไฟจีน-ลาว ดังกล่าว จะเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าทั้งหลายส่งออกไปสู่ตลาดจีนและเพื่อนบ้านที่จะสามารถลดต้นลดต้นทุนในการขนส่ง และประหยัดเวลาลงได้อย่างมาก ต้องต่อยอดสร้างโอกาสในทุกด้านให้ได้"
    

ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องปรับตัวเปลี่ยนแนวความคิด จากเดิมที่ให้ภาคราชการเป็นคนคิด แล้วให้ภาคเอกชนปฏิบัติตาม มาเป็นการทำงานร่วมกันกับภาคราชการ โดยภาคเอกชนเป็นผู้เสนอแนวคิด และมีภาคราชการคอยดูแลกำกับ ช่วยเหลือ สนับสนุนแทน ต้องมีการคิดพัฒนาความคิดในรูปแบบใหม่ ๆ  จึงจะเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ทันการ
    

มิติที่ 4 เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภาครัฐยังมองมีมุมมองเดิม ว่าอีสานยังมีปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง เรื่องน้ำเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันด้วยความรู้ความสามารถ ประกอบกับเทคโนโลยี่สมัยใหม่ สามารถลดปัญหาเรื่องของน้ำดังกล่าวลงไปได้ในระดับที่เป็นน่าพอใจ ต่อไปนนี้ภาคเอกชนต้องร่วมกับภาคราชการในพื้นที่ นำไปบูรณาการปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ในเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ในทุกพื้นที่ โดยคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคอีสาน จะตั้งคณะทำงานในส่วนภาคเอกชน คอยติดตามเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับภาคอีสานให้มากที่สุด  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และทำให้คนภาคอีสานหลุดพ้นจากความยากจนได้ในเวลา 5 ปีข้างหน้าให้เกิดขึ้นได้จริง