svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ถอดบทเรียน “พาราควอต” สู่ ไดควอต ผวาซ้ำรอยแบนใหม่

04 กันยายน 2564

สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก “ไดควอต” สารกำจัดวัชพืชน้องใหม่ แทนพาราควอต “ดร.จรรยา” ถอดบทเรียนพาราควอต หากเกษตรกรใช้จริง ผวาซ้ำรอยแบนใหม่อีกรอบ

ดร.จรรยา มณีโชติ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก สาระน่ารู้ เรื่อง "ไดควอต"  (Diquat) ตอนที่ 2 เจาะประวัติไดควอต ถูกค้นพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.  2498 โดยบริษัท ICI (Imperial Industries Laboratories) ประเทศอังกฤษ (ซึ่งปัจจุบัน คือ บริษัท ซินเจนทา) และถูกวางจำหน่ายเป็นสารกำจัดวัชพืช มานานกว่า 50 ปีด้วยคุณสมบัติที่กำจัดวัชพืชประเภทใบกว้างได้ดีกว่าใบแคบ จึงถูกใช้กำจัดวัชพืชในข้าวสาลี ข้าวโอ๊ตและข้าวบาร์เล่ย์

 

ต่อมาได้ นำไปใช้กำจัดวัชพืชน้ำ และใช้พ่นก่อนเก็บเกี่ยวพืชหลายชนิด เช่น มันฝรั่ง ทานตะวัน ฝ้าย คาโนล่า และพืชตระกูลถั่ว ในทวีปยุโรปและอเมริกา กลไกออกฤทธิ์ในพืช (Mode of actIon) ไดควอต มีโครงสร้างทางเคมีจัดอยู่ในกลุ่ม Bipyridiliums

 

เช่นเดียวกับ “พาราควอต” มีกลไกออกฤทธิ์จัดอยู่ในกลุ่ม D คือ ยับยั้งระบบการสังเคราะห์แสงที่ 1 ทำให้พืชตายอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน เกิดจาก "ไดควอต" ได้รับอีเล็คตรอนจากกระบวนการสังเคราะห์แสง และทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดเป็น superoxide ion  ที่เป็นพิษต่อเซลเมมเบรน ทำให้เซลแตกและพืชแห้งตายได้อย่างรวดเร็ว

 

การเข้าสู่ต้นพืชและการเคลื่อนย้ายไดควอตเข้าสู่ต้นพืชทางใบเท่านั้น เมื่อตกลงสู่ดินจะถูกอนุภาคดินดูดยึดไว้อย่างเหนียวแน่น จึงไม่เข้าสู่พืชทางราก  มีระยะปลอดฝนหลังพ่น 1 ชั่วโมง และเคลื่อนย้ายในต้นพืชได้เล็กน้อย ความเป็นพิษของ "ไดควอต"

สาร "ไดควอต" หรือ Diquat

WHO” จัดไดควอต อยู่ในกลุ่มสารที่มีความเป็นพิษปานกลาง (Moderate toxicity)  ระคายเคืองต่อตา ผิวหนัง และทางเดินหายใจอาจทำให้เกิดต้อกระจก (cataract)  อาจทำให้เลือดกำเดาไหล เยื่อจมูกอักเสบ และเล็บมีอาการผิดปกติได้ มีค่าพิษเฉียบพลัน (Oral Acute Toxicity) LD50 (หน่วยเป็น มก./กก.) ของไดควอต (technical grade) ต่างกันตามชนิดสัตว์ทดลอง

  • หนู (rat)       = 215-235
  • หนู (mouse) = 125
  • กระต่าย        = 100
  • สุนัข           = 100-200
  • วัวตัวเมีย    = 30

สำหรับปริมาณที่คนกินไดควอตเข้าไปแล้วเสียชีวิต (Acute Lethal Dose) ที่ระบุไว้โดย  WHO อยู่ที่ประมาณ 2 เท่าของพาราควอต

      ไดควอต 6-12 กรัม

      พาราควอต 3-5 กรัม

สาเหตุหลักที่ทำให้ไดควอตถูกแบนในยุโรป เมื่อปี 2561 คือ European Food Safey Agency หรือ  EFSA ได้ประเมินความเสี่ยงจากการใช้ไดควอต พบว่า ถึงแม้จะใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันขณะพ่น ไดควอตสามารถเข้าสู่ร่างกายของผู้พ่น ในปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย AOEL

 

งานวิจัยล่าสุดของ Yastrub และคณะ ในปี 2563 พบว่า ในขณะพ่น ไดควอตสามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายผู้พ่นเป็นปริมาณสูงถึง 0.0154 มก./ กก. หรือ สูงเป็น  77 เท่าของค่า AOEL

 

AOEL หรือ Acceptable Operator Exposure Level    หมายถึง ปริมาณสูงสุดของสารออกฤทธิ์ ที่ไม่ทำให้เกิด ผลเสียต่อสุขภาพของผู้พ่น

(ค่า AOEL ของไดควอต เท่ากับ 0.0002  มก. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กก.)

 

นอกจากผู้พ่นแล้ว ยังพบว่าผู้คนในละแวกใกล้เคียง ยังมีโอกาสได้รับไดควอตเข้าสู่ร่างกายจนเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย AOEL ได้เช่นกัน

 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ สิ่งปนเปื้อน (Impurities) ที่พบอยู่ในผลิตภัณฑ์ไดควอต ที่เป็นพิษต่อคน 3 ชนิด คือ

1. Ethylene dibromide ( EDB) ซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็งในคน (Propable human carcinogen)

2. Total terpyridines ซึ่งมีความเป็นพิษตอคนสูงมาก

3. 2',2 bipyridyl  ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ (Mutagenic, tetragenic acivity)

 

ดังนั้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  ได้กำหนดค่าสูงสุดของสิ่งปนเปื้อนทั้ง 3 ชนิดในไดควอตไว้ ดังนี้

  • EDB  0.01 g/kg
  • ️Total terpyridines 0.001 g/kg
  • 2,2' bipyridyl 0.75 g/kg

 

นอกจากนั้น ยังเริ่มมีรายงานวิจัย พบว่า ไดควอต ทำให้มีโอกาสเกิดโรคพาร์กินสันในคน มากกว่าพาราควอต

 

ถอดบทเรียน “ไดควอต” จากพาราควอต

ถึงแม้ว่า EU จะแบนทั้ง "พาราควอต" และ "ไดควอต" แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังใช้สารทั้ง 2 ชนิด อยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย  เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกประเทศที่มีการใช้ไดควอต จะมีการประเมินความเสี่ยง จากการใช้งานจริงในแต่ละประเทศ

 

จะเห็นได้ว่า เมื่อ EFSA ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านประเมินความปลอดภัยของสารเคมีใน EU  มีหลักฐานงานวิจัยที่น่าเชื่อถือว่า “ ไดควอต” เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และคนในบริเวณใกล้เคียง EU จึงประกาศแบนไดควอต และให้ระยะเวลาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประมาณ 2 ปีเพื่อเตรียมตัวเลิกใช้ไดควอตทั่วยุโรปในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

 

แต่ประเทศที่ยังคงอนุญาตให้ใช้ไดควอต เพราะผลการประเมินความเสี่ยงยังอยู่ในเกณฑ์ความปลอดภัยที่ยอมรับได้ดังนั้น หากมีการอนุญาตให้ใช้ไดควอตในประเทศไทย สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสนใจ 3 ประเด็น คือ

 

       1. เรื่องการกำหนดค่ามาตรฐานของสิ่งปนเปื้อน 3 ชนิด ในผลิตภัณฑ์ไดควอต  ให้สอดคล้องกับตามมาตรฐานของ FAO

       2. ควรกำหนดข้อบังคับให้เกษตรกรใช้อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีที่เหมาะสมในขณะใช้ไดควอต เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้รับพิษ เช่นเดียวกับที่พบในยุโรป

      3. หลังการจำหน่ายไดควอตไปแล้ว ควรมีงานวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยง ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ต่ออายุทะเบียน

 

ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การใช้ “ไดควอต” อย่างปลอดภัยและยั่งยืนในอนาคตรู้เขารู้เราเรื่องสารกำจัดวัชพืช และหวังว่าในอนาคต จะไม่ซ้ำรอย "พาราควอต" ที่โดนแบนไปล่าสุด