“รถไฟลาว-จีน” มาแล้ว : ทำธุรกิจอะไรดี ?

03 ก.ย. 2564 | 04:07 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขียนบทความ เรื่อง "รถไฟลาว-จีน" มาแล้ว : ทำธุรกิจอะไรดี? เนื้อหาชี้ให้เห็นถึงทิศทางโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทย น่าสนใจยิ่ง

 

“รถไฟลาว-จีน” มาแล้ว : ทำธุรกิจอะไรดี ?

 

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 จะมีการเปิดใช้รถไฟลาว-จีนอย่างเป็นทางการ หรือเรียกว่า “Boten-Vientiane Railway” ตรงกับวันชาติลาวที่ครบรอบ 46 ปีของการสถาปนา “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” รวมระยะเวลาในการก่อสร้าง 6  ปีเต็ม รถไฟเส้นนี้จะเปลี่ยนกรุงเวียงจันทน์ “พลิกหน้ามือเป็นหลังมือในอีก 5 ปีข้างหน้า” เพราะคนใน สปป.ลาว นักธุรกิจจีนไทย ลาว อาเซียนและคนรุ่นใหม่ เห็นว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอีกมาก 

 

วัตถุประสงค์ของการก่อสร้างรถไฟเส้นนี้ มี 3 ข้อ 1.เพื่อเปลี่ยนมณฑลยูนนานและสปป.ลาว จาก “Land-Locked เป็น Land-Linked”  2. ผลักดันนโยบาย “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ของระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China- Indochina Peninsula Economic Corridor : CICPEC) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจจีน

 

3.ผลักดันเส้นทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ ให้เป็นรูปธรรม ที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 เส้นทางคือ 1.เส้นตะวันตกไปเมียนมา คุนหมิง-ต้าหลี่  (Dali) -รุยลี่ (ชายแดนรุ่ยลี่อยู่ในเขตปกครองตนเอง Dehong Dai ของจีน)-มูเซ (เมียนมา)-ลาโซ-มัณฑะเลย์-ย่างกุ้ง-กรุงเทพ-มาเลเซีย-สิงคโปร์  2.เส้นตะวันออกไปเวียดนาม คุนหมิง-วี่ซี่ (Yuxi) -เหอโขว (Hekou) ชายแดนจีนเวียดนาม – โฮจิมิน-พนมเปญ-กรุงเทพ-มาเลเซีย-สิงคโปร์ และ 3.เส้นกลางไปลาว คุนหมิง -วี่ซี่ (Yuxi)-โมหาน ในเมืองหล้า (Mengla) ในสิบสองปันนา -บ่อเตน (ชายแดนจีนลาว) -เวียงจันทน์-กรุงเทพ-มาเลเซีย-สิงคโปร์ รถไฟลาว-จีนเป็นเส้นทางที่มีระยะทางถึงสิงคโปร์ที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 2 เส้นทาง คือระยะทาง 3,500 กม. ในขณะที่อีกสองเส้นทางแต่ละเส้นยาวเกือบ 4,500 กม.

 

 

โดยทั้ง 3 เส้นทางรถไฟนี้จีนตั้งเป้าให้ “คุนหมิง” เป็นประตูการค้าในอาเซียน ให้คุณหมิงเสมือนเป็น “หัวหมุดตรงกลางยูนนาน” เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์กลางการขนส่ง และศูนย์กลางอุตสาหกรรมตอนใต้ของจีน เส้นทางรถไฟเวียงจันทน์ถึงคุนหมิงระยะทางรวม 1,009 กม. แบ่งเป็นจากเวียงจันทน์ถึงบ่อเตน 414 กม. จากบ่อหานถึงเมืองวี่ซี่ (Yuxi) 509 กม. และจากเมืองวี่ซี่ไปคุณหมิง  86 กม. 

 

สำหรับเส้นทางรถไฟในลาวสัดส่วน 64% เป็นเส้นทางบนสะพานและอุโมงค์ มีสะพาน 167 แห่งระยะทาง 67 กม. (คิดเป็น 16% ของระยะ ทางทั้งหมด) สะพานที่ยาวที่สุดคือโพนทอง (Phonethong) ยาว 7.5 กม. ห่างจากเวียงจันทน์ 70 กม. และอุโมงค์ 75 แห่ง 198 กม. (คิดเป็น 47% ของระยะทางทั้งหมด) โดยตลอดเส้นทางเวียงจันทน์ถึงคุนหมิงมีอุโมงค์ทั้งหมด 167 อุโมงค์ตรงชายแดนลาวกับจีนมี “อุโมงค์มิตรภาพ” (Youyi  Suidao) ยาว 9.59 กม. อยู่ฝั่งจีน (บริเวณโมหานและเมืองหล้าในสิบสองปันนา) 7.17 กม. และ ลาว 2.42 กม. (บริเวณบ่อเตน)   

 

 

ในลาวมีทั้งหมด 32 สถานี ขนส่งสินค้า 22 สถานี  และรับส่งผู้โดยสาร 10 สถานี มีสถานีหลัก 5 สถานี คือ เวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง นาเตย และบ่อเต็น ราคาตั๋วจากเวียงจันทน์ถึงบ่อเตน 485 บาทต่อคน (140,000 กีบ/คน หรือ 1.2 บาท/กม.) ค่าขนสินค้า 2 บาท/ตัน/กม. ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและที่ลาดชัน ทำให้ความเร็วรถไฟสำหรับขนสินค้าจึงอยู่ที่ 120 กม./ชม. และขนส่งคน 160 กม./ชม. ยกเว้นช่วงวังเวียง-เวียงจันทน์ที่เป็นที่ราบทำให้ทำความเร็วได้ถึง 200 กม./ชม.ได้

 

จากรายงาน “Unlocking the Potential of Lao-China Rail Connectivity” World Bank (2020) พบว่าเวลาเดินทางด้วยรถไฟเส้นทางนี้จากเวียงจันทน์ไปคุนหมิงใช้เวลา 8 ชม. (จากเวียงจันทน์ไปบ่อเตน 4 ชม.และจากบ่อเตนไปคุนหมิงอีก 4 ชม.) จากเดิมเดินทางด้วยรถยนต์ 15 ชม. ด้วยรถบัส 22 ชม. รถไฟเส้นนี้ทำให้การเดินทางจากเวียงจันทน์ไปวังเวียงน้อยกว่า 1 ชม.จากเดิมด้วยรถยนต์ 4 ชม. (ปัจจุบันมีมอเตอร์เวย์ระยะทาง 113 กม. ใช้เวลา 1.5 ชม. เปิดใช้เมื่อปีปลายปี 2563 มีแผนในระยะที่สองขยายจากวังเวียงไปหลวงพระบาง 137 กม. และสิ้นสุดเส้นทางอยู่ที่บ่อเตน)

 

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเส้นทางรถไฟเส้นนี้ ไม่เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจของลาวเท่านั้น แต่จะมีผลต่อ 1.การค้า ทั้งลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย ธนาคารโลกประเมินว่า การค้าจีนกับอาเซียนจะ “เพิ่มขึ้น 200%” จาก 2 ล้านตัน (2016) เป็น 6.3 ล้านตันในปี 2030 และการค้าลาวกับจีน “เพิ่มขึ้น 350%” จาก 1.2 ล้านตัน (2016) เป็น 5.4 ล้านต้นในปี 2030

 

2.นักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2020 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาลาว 5 ล้านคน 21% ไปเวียงจันทน์ 10% ไปหลวงนํ้าทา (5 แสนคน) ตามด้วยหลวงพระบาง และจังหวัดอื่น

 

 

“รถไฟลาว-จีน” มาแล้ว : ทำธุรกิจอะไรดี ?

 

จากนี้ไปนักท่องเที่ยวต่างชาติจะ “เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว” เป็น 10 ล้านคน (ประเมินโดยศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย) ในปี 2030 ที่สำคัญนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอีกด้วย นักท่องเที่ยวที่เข้ามาบ่อเตนมากขึ้นอยู่ที่ 1.2 ล้านคน จากเดิม 0.4 ล้านคน (ธนาคารโลก) และนักท่องเที่ยวลาวจะเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนด้วย

 

3.ลดต้นทุนการขนส่งการค้าผ่านแดน (Transit Trade) จะทำให้ต้นทุนการขนส่งจากเวียงจันทน์ไปคุนหมิงลดลง “40-50%” (ธนาคารโลก) และจะลดต้นทุนผ่านแดนระหว่างคุนหมิงกับแหลมฉบัง “ลดลง 50% (ดูรูปกราฟ: กรณีที่ 4)” ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยมีรถไฟเชื่อมต่อจากรถไฟลาว-จีน

 

4.การลงทุนจะขยายตัวสูง FDI ที่เข้าไป ลาวจะเป็นพลังงานไฟฟ้า เหมืองแร่ตามด้วยบริการและเกษตร แต่ผมคาดการณ์กลุ่มธุรกิจบริการ โรงพยาบาล ก่อสร้าง ที่ปรึกษาธุรกิจ งานเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์และห้างสรรพสินค้าจะมีการขยายตัวสูง

 

5.มูลค่าการค้าเส้นทาง R3A มีสินค้าขนส่งไปบ่อเตน-โมหานเพิ่มมากขึ้น มี Mohan-Boten Economic Cooperation Zone, Boten SEZ, สถานีรถไฟร้าน Duty Free รวมไปถึงด่านหนองคาย

               

“ธุรกิจที่น่าลงทุนสำหรับคนไทย” ภายใต้รถไฟลาว-จีนคือ 1.กลุ่มสินค้า ที่ไปขายทั้งคุนหมิงและลาวที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อาหารแปรรูป ผัก ผลไม้ ของใช้ภายในบ้าน อัญมณี เครื่องประดับ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2. ธุรกิจปศุสัตว์แปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โคเนื้อ” ทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าและตลาด รวมไปถึงการแปรรูปที่ด่านบ่อเตนโมหาน ยังสามารถส่งไปขายเวียดนามได้อีกด้วย ทั้งนี้ต้องทำแบบมาตรฐานที่ดี

 

3.ธุรกิจบริการ กลุ่มธุรกิจนี้จะมีโอกาสขยายตัวสูงมาก เพราะเป็นธุรกิจต่อเนื่องจากธุรกิจอื่นและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา 4.ธุรกิจตลาดผลไม้ไทย ร่วมมือกับตลาดในกรุงเวียงจันทน์เพราะผลไม้ส่วนใหญ่มาจากไทยและเวียดนาม ถ้าไทยช้าไปจะเสร็จผลไม้เวียดนาม 5.ธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง เช่น ซ่อม ตบแต่งรถยนต์ เป็นต้น