รีโนเวท‘ท่าเรือกันตัง’ฟื้นฮับท่องเที่ยวอันดามัน

03 ก.ย. 2564 | 03:47 น.

    เอกชน ภาคประชาสังคม อปท.กันตังประสานเสียง ขอรีโนเวทท่าเรือพาณิชย์ต่างประเทศที่ทิ้งร้าง ปรับโฉมเป็นท่าเรือท่องเที่ยว หวังฟื้นอดีตรุ่งโรจน์กันตังเมืองการค้า สู่ฮับท่องเที่ยวอันดามันอีกแห่งของตรัง เร่งเสนอกรอ.เพื่อส่งให้ “โยธาฯ-กรมเจ้าท่า” ตั้งงบปรับปรุง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผู้บริหารเทศบาลเมืองกันตัง เชิญผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ประธานกรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และกรรมการผู้จัดการโรงแรมดูก๊อง วิลเลจ ปากเมง เพื่อประชุมหารือการพัฒนาสะพานท่าเทียบเรือเพื่อการพาณิชย์ต่างประเทศ กันตัง ที่ปล่อยทิ้งร้าง 
  นายสรนนท์ จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกันตัง จังหวัดตรัง     

ในอดีตท่าเทียบเรือกันตังมีการขนส่งสินเค้าเข้าออกมาช้านานและมีปริมาณมาก โดยมีเส้นทางรถไฟสายทุ่งสง-กันตัง แยกจากเส้นทางสายใต้ มาถึงสถานีกันตังที่สะพานท่าเทียบเรือ  สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ   ยางพารารมควัน ยางพาราอัดแท่ง  น้ำยางข้น ไม้ยางพาราแปรรูป  เฟอร์นิเจอร์   วู๊ดพาเลจ(ขี้เลื่อยอัดเม็ด) แร่ยิปซั่ม ปูนซิเมนต์อัดเม็ด และอื่น ๆ ปลายทางมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์ จีน พม่า บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา  ส่วนสินค้านำเข้า คือถ่านหิน และอุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสินค้าเทกองและสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่าการค้ามีเป็นจำนวนมากแต่ละปี
    

ปัจจุบันท่าเทียบเรือแห่งนี้มีความสำคัญลดลง คือมีสินค้านำเข้าส่งออกน้อย ผู้ประกอบการสู้ต้นทุนไม่ไหวก็เลิกเช่ากันไป หรือบางส่วนหันไปสร้างท่าเทียบเป็นของตนเอง โดยเป็นของเอกชน 4 ท่า  เทศบาลเมืองกันตัง 1 ท่า อบจ.ตรัง 1 ท่า

ซึ่งท่าเทียบเรือในความดูแลของเทศบาลเมืองกันตัง ได้ทำสัญญาเช่าท่าเทียบเรือต่างประเทศ รวม 3 แห่ง กับ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ จังหวัดตรัง ดังนี้  

1.สะพาน ขนาดกว้าง 15.50 เมตร ยาว 144.00เมตร    

2.สะพานขนาดกว้าง 24.50 เมตร ยาว 90.00 เมตร

3.สะพานขนาดกว้าง 24.50 เมตร ยาว 90.00เมตร ปัจจุบันเลิกใช้

ท่าเทียบเรือเพื่อการพาณิชย์ต่างประเทศ กันตัง ที่จะปรับโฉมเป้นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว

รีโนเวท‘ท่าเรือกันตัง’ฟื้นฮับท่องเที่ยวอันดามัน
ภาคเอกชน ประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ มีเป้าหมายจะพัฒนาเมืองเก่ากันตัง ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามันของจังหวัดตรังอีกแห่ง เนื่องจากกันตังมีชัยภูมิที่ดี เป็นจุดศูนย์รวมการคมนาคมขนส่งและการเดินทางหลากรูปแบบ คือ มีทางรถไฟเข้าถึงตัวเมืองที่สถานีกันตัง ซึ่งมีพื้นที่ต่อเนื่องถึงท่าเทียบเรือกันตัง ที่สามารถล่องเรือออกสู่ทะเลอันดามันได้โดยตรง แล่นลงทางใต้ผ่านสตูล ลงไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์อินโดเนเซีย ขึ้นทางเหนือไปยังกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ต่อไปถึงเมียนมาเชื่อมไปถึงอินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกาขณะที่การเดินทางด้วยเครื่องบินก็สะดวกรวดเร็ว จากสนามบินตรังถึงกันตังมีระยะทางเพียง 22 กิโลเมตร
    

ที่ประชุมสรุปความเห็นว่าควรคัดเลือกท่าเทียบเรือเพื่อการพาณิชย์ต่างประเทศ กันตัง สะพานหมายเลข 3 ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ มาปรับปรุงเป็นท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว มีขนาดพื้นที่กว้าง 24.50 เมตร ยาว 90.00 เมตร โดยจะเสนอผ่านประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.)จังหวัดตรัง เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดตรัง ตามลำดับต่อไป


    นายสรนนท์ จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกันตัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้ได้งบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง 80 ล้านบาท มาปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือกันตัง จึงควรปรับปรุงพัฒนาท่าเรือพาณิชย์ต่างประเทศแห่งนี้มาเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว โดยจะหารือกับทางผู้ว่าฯตรัง เพื่อขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า ออกแบบให้สะดวกในการใช้งานและสวยงามต่อไป

รีโนเวท‘ท่าเรือกันตัง’ฟื้นฮับท่องเที่ยวอันดามัน

รีโนเวท‘ท่าเรือกันตัง’ฟื้นฮับท่องเที่ยวอันดามัน
ด้านนายพิทักษ์พงษ์ ชัยคช ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง กล่าวว่า ท่าเรือกันตังมีความพร้อมทุกอย่าง หน่วยราชที่เกี่ยวข้อง เจ้าท่า ตำรวจน้ำ ศุลกากร ด่านกักพืชโรคและสัตว์และอื่น ๆ ตั้งในพื้นที่อย่แล้ว เส้นทางคมนาคมสะดวกสบาย ทางรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน  และทางน้ำสะดวกสบาย ที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ซื้อขายได้สะดวก ดำเนินอะไรก็มีกฎหมายรองรับ สามารถเดินหน้าปรับปรุงพัฒนาได้ทันที   
    

เมื่อปรับปรุงแล้วผู้ประกอบการภาคเอกชน สนใจจะนำเรือประสิทธิภาพสูงมาเปิดบริการ อาทิเช่น เรือสปีดโบ็ท เรือขนาดใหญ่ ที่สามารถแล่นในทะเลตรัง ทะเลอันดามันต่อไปยังต่างประเทศได้ ตัวอย่างเช่น เส้นทางเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมเกาะปีนังกับกันตัง เนื่องจากเป็นเส้นทางติดต่อค้าขายกันมาแต่โบราณ เป็นบ้านพี่เมืองน้องร่วมเชื้อสายเดียวกัน
    

ส่วนในช่วงหน้ามรสุมในทะเลอันดามันก็สามารถนำเรือเข้าเที่ยวในเส้นทางแม่นํ้าตรัง แม่นํ้าปะเหลียน ชมป่าโกงกาง มีทิวทัศน์สวยงาม พร้อมบริการอาหารบนเรือ โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตรัง วางมาตรการให้ผู้ให้บริการต้องผ่านมาตรฐาน SHA เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังโควิดนี้ด้วย 

รีโนเวท‘ท่าเรือกันตัง’ฟื้นฮับท่องเที่ยวอันดามัน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,711 วันที่ 5-8 กันยายน  พ.ศ.2564