“นกแอร์”ลุ้นศาลฯนัดพิจารณาแผนฟื้นฟู26ส.ค.นี้เพิ่มทุน5พันล้านใน5ปี

25 ส.ค. 2564 | 03:21 น.

นกแอร์ลุ้นศาลล้มละลายกลางนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ26ส.ค.นี้ จ่อเพิ่มทุน 5 พันล้าน ปรับเป็นพรีเมี่ยมแอร์ไลน์ ย้ำกระแสเงินสดยังแกร่ง รอรัฐปลดล็อกพร้อมกลับมาบินดอนเมือง จากปัจจุบันบินอู่ตะเภามาครบ1เดือนขนผู้โดยสาร4พันคน ทั้งเล็งเปิดบินระหว่างประเทศกลางปีหน้า

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติโหวตยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ด้วยคะแนนเสียง 76.72% จากจำนวนเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 173 ราย รวมมูลหนี้ ทั้งสิ้น 5,153 ล้านบาท ถือว่าแผนฟื้นฟูของนกแอร์มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยศาลล้มละลายกลางได้นัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการนกแอร์ในวันที่ 26 ส.ค. 2564

วุฒิภูมิ จุฬางกูร

 

สำหรับรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ภายในช่วงเวลา 5 ปี นกแอร์ จะเน้นใน6เรื่องสำคัญ ได้แก่

 

1.มีการขอเงินกู้ฉุกเฉินจากผู้ถือหุ้นใหญ่กรณีหากมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่อง วงเงิน 300 ล้านบาท ซึ่งแผนสำรองไว้ เพราะในปีนี้นกแอร์ยังไม่จำเป็นต้องกู้ เพราะวงเงินกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่ราว 3 พันล้านบาทที่มีอยู่เดิม ยังใช้ไม่หมด ยังมีสภาพคล่องมากพอที่จะใช้ไปถึงสิ้นปี ขอให้ผู้โดยสารมั่นใจว่านกแอร์จะบินต่อเนื่องและจะไม่หยุดทำการบิน

 

2.มีการเพิ่มทุน 5 พันล้านบาท ใน 5 ปี ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

 

3.มีแผนรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง737-800 หรือเทียบเท่า เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ2 ลำ

 

4.ทำการบินสนับสนุนเมืองรอง โดยเฉพาะเบตง รวมถึงสนามบินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเครื่องบินขนาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างQ400 ที่มีความเร็วสูงเมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นใกล้เคียงกัน มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล และยังสะดวกสบายในการเดินทางจากความเงียบภายในห้องโดยสาร

 

5.ปรับเปลี่ยนโลว์คอสต์ ก้าวสู่การเป็นพรีเมี่ยมแอร์ไลน์ โดยใช้จุดแข็งความเป็นสายการบินคนไทย อายุเฉลี่ยของเครื่องบินที่น้อย ที่นั่งและที่วางขากว้าง ผู้โดยสารนั่งแล้วขาไม่ติด มีบริการต่างๆมากกว่าสายการบินทั่วไป เพื่อเป็นตัวเลือกการเดินทางที่หลากหลายตามความต้องการ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร เช่น บริการต่อรถ,ต่อเรือ ไปยังจังหวัด อำเภอ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

“ตัวเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ที่มีขนาดที่นั่งและมีที่วางขากว้างกว่าโลวคอสต์ทั่วไป เป็นเที่ยวบินที่ตรงเวลาไม่ดีเลย์ หลังจากที่นกแอร์ลงทุนสต็อกอะไหล่ที่สนามบินดอนเมืองเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องบินอากาศยาน มีบริการที่ผู้โดยสารสามารถซื้อได้เฉพาะตั๋วเครื่องบินอย่างเดียว

 

รวมไปถึงการซื้อบริการต่างๆที่ฟูลเซอร์วิสมี ทั้งอาหารร้อน บริการฟรีน้ำหนักกระเป๋า บริการเปลี่ยนตั๋วฟรี รวมทั้งเตรียมร่วมเป็นพันธมิตรกับร้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อนำมาเสิร์ฟบนเครื่องบิน เช่น สตาร์บัคส์ โดยช่วงปลายปีนี้จะเห็นการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ของนกแอร์”

 

6.การสร้างพันธมิตรด้านการบินเพื่อขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น ทั้งกับสายการบินภายในประเทศและสายการบินจากต่างประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสการขายบัตรโดยสารรวมถึงมีทางเลือกใหม่ๆให้กับผู้โดยสาร

 

รวมถึงที่ผ่านมาแม้นกแอร์จะไม่สามารถทำการบินที่สนามบินดอนเมืองได้ เนื่องจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)หรือCAAT จำกัดการเดินทางห้ามสายการบินเปิดบินในประเทศภายในพื้นที่สีแดงเข้ม ทำให้นกแอร์ก็ยังยืนหยัดจะช่วยเหลือความจำเป็นของผู้โดยสารในการเดินทาง

 

ทำให้นกแอร์ หันไปขยายฐานการบินที่สนามบินอู่ตะเภาเชื่อมภูมิภาคต่างๆ และเมื่อจังหวัดระยองเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม นกแอร์ก็มีการขอผ่อนผัน ก็ได้ทำการบินได้มาร่วม 1 เดือนแล้ว โดยเชื่อมเหนือ กลาง อีสานใต้จากสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งขณะนี้นกแอร์มีเส้นทางเชื่อมโยงจากอู่ตะเภา ไปยังเชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธาน สกลนคร สุราษฏร์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ตรัง ซึ่งเราได้ปรับเที่ยวบินเหมาะสมตามความต้องการ ให้บริการQ 400 จุได้ 86 ที่นั่ง และโบอิ้ง 737 จุได้ 189 ที่นั่ง โดยขายได้50%

“นกแอร์”ลุ้นศาลฯนัดพิจารณาแผนฟื้นฟู26ส.ค.นี้เพิ่มทุน5พันล้านใน5ปี

 

ทั้งนี้ในช่วง 1 เดือนที่นกแอร์เปิดใช้ฐานการบินที่สนามบินอู่ตะเภา เราบินมากกว่า 150 เที่ยว ให้บริการมากกว่า 4 พันคนเชื่อมต่อผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 30 ต่อ 1 เที่ยวบิน ในแง่รายได้ไม่ได้สร้างผลกำไรให้เราเลย บินไปก็ ขาดทุนแต่ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่สายการบินของไทยรับใช้ประชาชนยามยากลำบาก

 

เราทำมา ตลอด17 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่บินไม่คุ้มก็หยุดบิน 17 ปีเราไม่เคยหยุดบิน ช่วยเหลือคนไทยมาโดยตลอดในทุกวิกฤต ไม่เคยมีวิกฤตไหนที่ไม่มีนกแอร์ เราภูมิใจที่ได้เป็นสายการบินที่ช่วยเหลือคนไทยในภาวะวิกฤต

“นกแอร์”ลุ้นศาลฯนัดพิจารณาแผนฟื้นฟู26ส.ค.นี้เพิ่มทุน5พันล้านใน5ปี

 

แต่ด้วยข้อจำกัดจำนวนที่นั่งในการให้บริการ และบางสนามบินอย่างภูเก็ต ที่สายการบินต้องตีเครื่องบินเปล่าไปรับผู้โดยสารกลับเข้ามา ก็ทำให้ราคาตั๋วจึงจะแพงกว่าปกติ อย่างไรก็ตามหากกพท. มีการผ่อนปรนให้สายการบินกลับมาเปิดบินในประเทศที่สนามบินดอนเมืองได้ นกแอร์ก็จะกลับมาบินเหมือนเดิม โดยหวังว่าในเดือนก.ย.นี้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการลง

 

รวมทั้งในปีนี้มีแผนทีจะเปิดทำการบินที่สนามบินเบตง จำนวน 2 เส้นทาง คือ ดอนเมือง-เบตง และหาดใหญ่-เบตง แต่ต้องรอว่ากระทรวงคมนาคมจะอนุญาตให้นกแอร์รับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 นิวเจเนอเรชั่น เข้ามาหรือใหม่ เพื่อนกแอร์จะนำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวไปทำการบินในเส้นทางที่Q400 บินอยู่และนำQ400 มาบินอู่ตะเภา รวมถึงรอการพิจารณามาตรการที่นกแอร์ขอให้ภาครัฐการันตรีผู้โดยสาร เพราะนกแอร์ไม่อยากทำการบินไปแล้ว ไม่มีผู้โดยสารก็ต้องหยุดบิน

 

สำหรับธุรกิจการบินหากโควิดคลี่คลาย ผมมองว่าการแข่งขันจะไม่รุนแรงเหมือนในอดีต เพราะหลายสายการบินทยอยคืนเครื่องบินออกไปจากฝูง ส่วนสงครามราคานั้นผมเชื่อภาครัฐคงไม่ปล่อยให้สายการบินของไทย อย่างการบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์ต้องหายไป

 

เพราะการลงทุนและการเพิ่มทุนของการบินไทยที่ผ่านมาในอดีตจะหายไปในทันที และจะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศทันที วิกฤติครั้งหน้าใครจะช่วยด้านการคมนาคมทางอากาศบินแล้วขาดทุนสายอื่นๆก็หยุดบินทั้งนั้น มีเพียงสายการบินของไทยแท้ๆที่ช่วยบินอยู่แม้แต่ขาดทุน ตอนนี้และในอดีตก็ไม่มีมีสายการบินเลือดผสมไหนยอมบิน หยุดกันทั้งนั้น

นายไต้ ชอง อี ผู้บริหารแผนฟื้นฟูนกแอร์ กล่าวว่า นกแอร์มีแผนที่เพิ่มทุน จำนวน 5 พันล้านบาท ภายใต้แผนฟื้นฟู 5 ปี โดยใช้วิธีกู้เงิน หรือ หานักลงทุนรายใหม่เข้ามาร่วมทุน โดยยอดแรกจะเริ่มทยอยปีหน้า ล็อตแรก 280 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2- 3 ปี65 แล้วแต่เราต้องการกระแสเงินสดแค่ไหน เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการ

 

ทั้งนี้นกแอร์ขอบคุณเจ้าหนี้ทุกรายที่ผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ เราเข้าใจเจ้าหนี้อยากคืนเงินเร็วที่สุด ส่วนแผนระหว่างนี้เรารู้บริษัทมีกำลังคืนให้ได้มากแค่ไหนในแต่ละปี 

“นกแอร์”ลุ้นศาลฯนัดพิจารณาแผนฟื้นฟู26ส.ค.นี้เพิ่มทุน5พันล้านใน5ปี

 

ส่วนการดำเนินธุรกิจภายใต้โควิด-19 ขณะนี้ในแต่ละเดือนนกแอร์มีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน ขึ้นกับเรามีบินหรือไม่มีบิน ถ้าไม่บิน ค่าใช้จ่ายก็อยู่30 ล้านบาท ถ้าบิน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าน้ำมัน การให้บริการภาคพื้นต่างๆที่ไม่เท่ากัน ถ้าคิดเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่อยู่ที่น้ำมัน 30% ของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน แต่ค่าใช้จ่ายตอนนี้เปลี่ยนไปสัดส่วนน้ำมันอยู่ที่ 20% เงินเดือน 20% ค่าเช่าเครื่องบินที่ตอนนั้นเราบินเท่าไหร่ก็จ่ายค่าเช่าให้กับผู้เช่าเครื่องบินเฉพาะที่เราบิน ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ที่20% รวมๆอื่นๆก็เป็น 100%
 

ธุรกิจการบินตอนนี้BASE CAST กับWORST CASE  ไม่ต่างกันขึ้นกับว่าเราจะบินได้ที่สนามบินดอนเมืองได้เมื่อไหร่ รัฐบาลจะให้เปิดได้เมื่อไหร่ หรือบินไปไหนได้บ้าง แต่เรื่องของกระแสเงินสุดของบริษัทค่อนข้างแข็งแรงอยู่ เราเตียมกระแสเงินสดสำรองไว้ ถ้าเกิดกรณีเลวร้ายจริงๆก็จะอยู่ได้เกิน 6 เดือนอยู่แล้ว

“นกแอร์”ลุ้นศาลฯนัดพิจารณาแผนฟื้นฟู26ส.ค.นี้เพิ่มทุน5พันล้านใน5ปี

 

นายธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์  กล่าวถึงแนวโน้มการทำการบินของนกแอร์ว่าว่า เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายในเร็วๆ นี้ โดย คาดว่าภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ปริมาณการเดินทางสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศจะเริ่มกลับมาเห็นชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสทองของนักท่องเที่ยวไทยที่จะได้เที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่ชาวต่างชาติยังกลับมาเที่ยวไม่ได้ โดยนกแอร์ ได้เตรียมแผนทำการส่งเสริมการขายเส้นทางท่องเที่ยวในไทยแล้ว

 

ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศนั้นคาดว่าช่วง กลางปี 65 จะเริ่มทำการบินได้ โดยจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น เบื้องต้น อาจจะนำร่องบินตลาด ญี่ปุ่น จีน และรอบๆภูมิภาคก่อน