สงครามราคาไม่จบ EV จีนกำลังผลิตค้ำคอ-รัฐบาลยืดเวลาประกอบในประเทศชดเชย

06 ธ.ค. 2567 | 05:56 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2567 | 06:16 น.

EV จีน สงครามราคาส่อแววยืดเยื้อ ส่วนหนึ่งจากต้องผลิตคืนในประเทศ ตามเงื่อนไข EV 3 และ EV 3.5 “บีวายดี” ยืนยันการลดราคาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาด บอร์ด อีวี ยืดเวลาผลิตในประเทศชดเชย หวั่นซัพพลายล้นตลาด

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยปี 2567 คาดจะมียอดขายประมาณ 7-8 หมื่นคัน ใกล้เคียงกับปี 2566 (ยอดจดทะเบียน 76,366 คัน) ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในช่วงต้นปีว่า จะขายรวมกันทุกยี่ห้อเกิน 1 แสนคัน EV ถูกขับเคลื่อนโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีน และกลุ่มที่ไม่ใช่แบรนด์จีน แต่นำเข้ารถจากจีนเช่นกัน หากนับค่ายจีนแท้ๆ ที่ออกงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 มีร่วม 20 แบรนด์ จากทั้งหมดกว่า 40 แบรนด์

 

บรรยากาศในมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 คึกคักจากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ และการทำโปรโมชัน ลดราคาหลักแสนบาทหลายรุ่น หวังกระตุ้นยอดขาย พร้อมความเชื่อว่า ผู้บริโภคที่ชะลอการซื้อก่อนหน้านี้ จะต้องมาตัดสินใจปิดดีลสุดท้ายปลายปีนี้

สงครามราคาไม่จบ EV จีนกำลังผลิตค้ำคอ-รัฐบาลยืดเวลาประกอบในประเทศชดเชย

นอกจากรถยนต์นั่ง EV แล้วค่ายรถจีน ยังเปิดแนวรบใหม่กับรถปิกอัพหรือกระบะไฟฟ้าทั้ง EV และปลั๊ก-อินไฮบริด โดยกลุ่มแรกมีทำตลาดแล้วคือ RIDDARA และ KING LONG ขณะที่บีวายดี เตรียมขึ้นไลน์ประกอบ BYD Shark 6 PHEV ในไทยปี 2568 ถือเป็นการเคาะประตูบ้านรถญี่ปุ่น เครื่องยนต์ดีเซล ที่ครองตลาดมานาน

 

นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทบีวายดี ออโต้ อินดัสทรีจำกัด เปิดเผยว่า โรงงานบีวายดี ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ จ.ระยอง เพิ่งประกาศว่า สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ถึง 10,000 คัน หลังจากเปิดโรงงานในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา (ใช้เวลา 4 เดือน)

 

“บีวายดี เตรียมนำโปรดักต์และนวัตกรรมใหม่ๆ มาผลิตที่โรงงานแห่งนี้ รวมถึงรถกระบะพลังงานไฟฟ้า (ปลั๊ก-อินไฮบริด) รุ่นใหม่ BYD Shark 6”

นายหลิว ยังกล่าวถึงประเด็นการทำสงครามราคา EV ในปัจจุบันว่า ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของบีวายดี บริษัทเตรียมขึ้นไลน์ประกอบ และทำตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) รุ่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

สงครามราคาไม่จบ EV จีนกำลังผลิตค้ำคอ-รัฐบาลยืดเวลาประกอบในประเทศชดเชย

“เราตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำในตลาดรถ NEV ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่การลดราคารถยนต์ ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่เรานำมาใช้ เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์กับรถของบีวายดี ในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย” นายหลิว กล่าวสรุป

 

ประเด็นการแข่งขันกันลดราคา ในปี 2568 ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบลงง่าย ๆ ส่วนหนึ่งเพราะมีผู้เล่นมากกว่า 10 ราย หลายรายได้ลงทุนตั้งโรงงานในไทย และต้องเตรียมผลิตคืนในสัดส่วนที่เท่ากับการนำเข้ามาเป็นอย่างน้อย ตามเงื่อนไข EV 3 ของรัฐบาลไทย

 

ปัจจุบัน 8 ค่ายใหญ่ ได้แก่ BYD, Neta, MG, Great Wall Motor, และ GAC AION มีโรงงานผลิต EV ในไทยแล้ว ส่วน OMODA & JAECOO ของเชอรี่ และ CHANGAN จะพร้อมต้นปี 2568 โดยแต่ละค่ายวางแผนการผลิตไว้ชัดเจน และหากเป็นไปตามที่ผู้บริหารประกาศ ยอดผลิต EV ในไทยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนมากกว่า 4 แสนคันต่อปี

 

ทั้งนี้ ค่ายรถจีนประเมินว่า จากสภาพตลาดรถยนต์ที่ซบเซาไม่เหมือนจากที่เคยคาดการณ์ ไว้ และการส่งออกยังไม่คืบหน้า ดังนั้นเงื่อนไขในโครงการ EV 3 ที่ต้องผลิตคืนในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าการนำเข้ามาอาจทำได้ยาก

 

แหล่งข่าวผู้บริหารค่ายรถจีนรายหนึ่งเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากจะต้องผลิต EV ในไทยให้ถึงจำนวนตามเงื่อนไข EV 3 ณ เวลานี้ อาจจะมีความท้าทายจากสภาพตลาด และปัญหาเศรษฐกิจ คาดว่าตลาด EV ปีนี้จะทำได้ไม่ถึง 1 แสนคัน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาก

“หากผลิตออกมาเยอะ (เพราะ เงื่อนไขภาครัฐบังคับ) แล้วขายไม่ได้ จนรถค้างสต๊อก ทุกค่ายก็ต้องเริ่มลดราคา ทำโปรโมชัน ซึ่งจะกลายเป็นสงครามราคาเหมือนเดิม ขณะที่การประชุมร่วมของบริษัท EV จีน ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่อง ยุติสงครามราคา หรือจะต้องชะลอโปรโมชันลงหรือไม่ ซึ่งแต่ละค่ายวางกลยุทธ์ด้านราคา ที่จะเป็นไปตามกลไกตลาด” แหล่งข่าวกล่าว

 

ล่าสุดบอร์ดอีวี เคาะมาตรการใหม่ ขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 โดยให้ สามารถโอนไปผลิตชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการ EV3.5 และระงับการให้เงินอุดหนุน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบถ้วน 

สงครามราคาไม่จบ EV จีนกำลังผลิตค้ำคอ-รัฐบาลยืดเวลาประกอบในประเทศชดเชย

เดิมกำหนดว่าต้องผลิตให้ครบถ้วนตามสัญญาภายในปี 2567-2568 เนื่องจากยอดขายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะหดตัว จากปัญหาความเข้มงวดในการปล่อย สินเชื่อของสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดอีวี ได้หารือข้อเสนอดังกล่าว โดยพิจารณาสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทยในปัจจุบันที่อาจมี ความเสี่ยงจากภาวะอุปทานล้นตลาด (Oversupply) ซึ่งอาจนำไฃปสู่สงครามราคาที่รุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

 

ดังนั้นบอร์ดอีวี จึงมีมติให้ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการ EV3 ที่เดิมกำหนดให้ ต้องผลิตรถยนต์เพื่อขดเขยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 1 คัน) ภายในปี 2567 หรือ 1 : 1.5 เท่า ภายในปี 2568

 

โดยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ไปผลิตชดเชย ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ EV3.5 ได้ (ผลิตชดเชย 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือ 3 เท่า ภายในปี 2570) 

 

ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการขยายเวลาข้างต้นจะไม่ได้รับเงินอุดหนุน รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าในส่วนที่นำเข้าหรือผลิต ภายใต้มาตรการ EV3.5 ก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนเช่นเดียวกัน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบตามจำนวนที่ได้รับสิทธิ ขยายเวลา และอนุญาตให้นำรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่นำเข้าภายใต้ EV3 ที่ยังไม่จำหน่าย ส่งออกไปต่างประเทศ โดยไม่นับเป็นยอดที่ผลิตชดเชย