รัฐบาล คลอดแพ็คเกจดึงยักษ์ผลิต “แบตเตอรี่ระดับเซลล์” EV มาไทย

21 ก.พ. 2567 | 06:07 น.

บอร์ดอีวี ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิต “แบตเตอรี่ระดับเซลล์” สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน หวังดึงเอกชนยักษ์ใหญ่ของการผลิตมาลงทุนตั้งโรงงานในไทย

วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี (EV) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 

ทั้งนี้เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิต ต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภายใต้บีโอไอต่อไป

“แบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอีวี ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูลและแพ็ค ในประเทศหลายราย แต่เรายังขาดต้นน้ำที่สำคัญ คือ การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้ เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง การออกมาตรการส่งเสริมในครั้งนี้ เพื่อดึงบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยด้วย” นายนฤตม์ ระบุ

สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน ดังนี้ 

  • ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 
  • ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บ พลังงาน (ESS) ด้วยได้ 
  • ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/kg 
  • ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ 

ทั้งนี้ได้กำหนดเวลายื่นข้อเสนอโครงการ ลงทุนภายในปี 2570 ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ จะพิจารณากำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่อไป

สำหรับรายชื่อบริษัทเป้าหมายที่ทางบีโอไอ ต้องการดึงเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศนั้น จะเน้นไปที่บริษัทชั้นนำของโลก เช่น CATL, Gotion High-tech, SVOLT, BYD, CALB, Sunwoda และ  EVE จากประเทศจีน Panasonic จากญี่ปุ่น และ Samsung, LG, SK จากเกาหลีใต้

ส่วนสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน กำหนดให้เอกชนต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมจึงจะได้รับสิทธิเพิ่ม เสมือนการได้รับ Bonus โดยจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% และจำนวนปีเพิ่มตามสัดส่วนเงินลงทุน/ค่าใช้จ่ายต่อยอดขายรวมใน 3 ปีแรก 

พร้อมกันนี้ในกรณีที่มีเงินลงทุน หรือค่าใช้จ่ายด้าน R&D มากกว่า 1% จะได้นับการยกเวินภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่จำกัดวงเงิน และยังได้รับระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 13 ปี หากดำเนินการได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด