ตลาดรถจักรยานยนต์ EV โต 221% ไทยฮอนด้า เน้น B2B

15 ก.พ. 2567 | 05:52 น.

ไทยฮอนด้า เผยตลาดรถจักรยานยนต์ EV ในไทยปี 2566 โต 221% เชื่อตลาดขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่บูมในวงกว้าง เน้นขายแบบ B2B คาดปีนี้ยอดจดทะเบียนถึง 32,000 คัน

ไทยฮอนด้า เจ้าตลาดรถจักรยานยนต์ไทย มองสถานการณ์การขายปีนี้ซบซึม หลังจากปีที่แล้วสร้างเซอร์ไพรส์เติบโต 4% จากยอดจดทะเบียน 1.88 ล้านคัน โดยรถรุ่นที่ขายดีที่สุดยังเป็น Honda Wave ด้วยจำนวนกว่า 7.6 แสนคัน (Wave 110i และ 125i)

 

สำหรับปีนี้ ฮอนด้า คาดว่าตลาดรวมน่าจะขายรวมกันประมาณ 1.7-1.75 ล้านคัน ลดลง 7-10% ในจำนวนนี้เป็นของฮอนด้า 1.3-1.35 ล้านคัน ลดลง 8-12% เช่นกัน (ปี 2566 ฮอนด้า ขาย 1.47 ล้านคัน)

ตลาดรถจักรยานยนต์ EV โต 221% ไทยฮอนด้า เน้น B2B

 

ส่วนเซกเมนต์บิ๊กไบค์ หรือรถสปอร์ตเครื่องยนต์ 400 ซีซี ขึ้นไป ในปี 2566 มียอดจดทะเบียน 15,468 คัน และปีนี้ฮอนด้า คาดว่า จะทรงตัวที่ 15,000 คัน ในจำนวนนี้เป็นของตนเอง 7,000 คัน

 

ด้านสถานการณ์รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า EV  ฮอนด้ามองว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง (Mass Market) ขณะที่โมเดลธุรกิจแบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา และเก็บข้อมูลการใช้งาน แต่ต้องพิจารณาเรื่องผลกำไรในระยะยาวว่าจะตอบสนองทั้ง ผู้ผลิต ดีลเลอร์ และไฟแนนซ์ หรือไม่ ส่วนการชาร์จไฟโดยตรง ยังติดขัดเรื่องสถานีชาร์จทั้งตามบ้านและสถานีชาร์จสาธารณะ

 

นั่นหมายความว่า รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ในไทย อาจจะไม่สามารถแจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว เหมือนรถยนต์ (4 ล้อ) ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน

 

แม้ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ EV ในปีที่ผ่านมา มีประมาณ 21,000 คัน เพิ่มขึ้น 221% เมื่อเทียบกับปี 2565 (9,800 คัน) และปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 32,000-35,000 คัน ในส่วนของฮอนด้ามี Benly e และ PCX EV ยังเน้นขายแบบ B2B ส่งให้หน่วยงานราชการ และพันธมิตร นำไปใช้ในกิจการ แต่ยังไม่มีแผนขายโดยตรงสู่ลูกค้า

นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า ฮอนด้า ติดตามกระแส EV อย่างใกล้ชิด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ส่วนจะมีโปรดักต์ EV ใหม่ๆ เปิดตัวปีนี้หรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้

ตลาดรถจักรยานยนต์ EV โต 221% ไทยฮอนด้า เน้น B2B ตลาดรถจักรยานยนต์ EV โต 221% ไทยฮอนด้า เน้น B2B

“ปีที่ผ่านๆ มา มีหลายสถานการณ์เกิดขึ้น เจอหลายวิกฤต แต่ตลาดยังแข็งแกร่ง และถ้าเทียบกับรถยนต์ 4 ล้อแล้ว ถือว่าตลาดรถจักรยานยนต์ยังอยู่ในเส้นทางที่ดีกว่า”

 

ตลาดรถจักรยานยนต์รวมปี 2566 มียอดจดทะเบียนที่ 1.88 ล้านคัน เติบโต 4% โดยกลุ่มรถเอ.ที.ได้รับความนิยมสูงที่สุดมีส่วนแบ่งการตลาด 49% เพิ่มขึ้น 5% รองลงมาเป็นรถครอบครัว มีสัดส่วน 47% และกลุ่มรถสปอร์ตมีสัดส่วนอยู่ 3%

 

สำหรับปี 2567 ด้วยปัจจัยของสภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎหมายด้านการเงิน ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจทำให้ลูกค้าชะลอการซื้อสินค้า และส่งผลให้ความต้องการในตลาดลดลง จึงคาดการณ์ว่าตลาดรถจักรยานยนต์ไทยจะมียอดจดทะเบียนอยู่ที่ประมาณ 1.70-1.75 ล้านคัน โดยฮอนด้าวางเป้าจำหน่ายไว้ที่ 1.30-1.35 ล้านคัน

 

“ปีนี้ ฮอนด้า พร้อมที่จะสร้างความคึกคักให้กับตลาด ผ่านการส่งมอบประสบการณ์ในการขับขี่ที่ไม่รู้จบ ทั้งรถจักรยานยนต์ที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และการจัดกิจกรรมให้กับผู้ใช้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยทุกกิจกรรมถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด” นายคิมูระ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ ฮอนด้า มอเตอร์ ปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มบริษัทนี้ใหม่ โดยควบรวมกิจการของ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด, บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (โรงงานผลิต), และ บริษัท เอชพีดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแชร์โฮลดิ้ง ก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด

 

โดยไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จะดูแลการผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า รวมถึงผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์ ถึงวันนี้ดำเนินงานมาครบ 3 ปี ซึ่งฮอนด้ายํ้าว่าโครงสร้างบริษัทใหม่นี้ จะช่วยลดขั้นตอนในการดำเนินงาน สามารถบริหารการผลิต จัดการสต๊อก พร้อมส่งมอบรถให้แก่ดีลเลอร์ได้รวดเร็วและตรงกับความต้องการมากขึ้น