โตโยต้า ยกทัพยานยนต์แห่งอนาคตร่วมงาน JAPAN MOBILITY SHOW 2023

30 ต.ค. 2566 | 12:30 น.

โตโยต้า อวดโฉมนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคตในงาน JAPAN MOBILITY SHOW 2023 จัดเต็มคอนเซปต์คาร์ รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีสมัยใหม่

งาน JAPAN MOBILITY SHOW 2023 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม  -5 พฤศจิกายน 2566 ณ Tokyo Big Sight ประเทศญี่ปุ่น โดยงานในปีนี้รอบสื่อมวลชนจะมีขึ้นในวันที่ 25-26 ตุลาคม 2566 ส่วนวันที่ 26-27 ตุลาคม 2566 จะเป็นวันสำหรับแขกพิเศษ และวันที่ 28 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566 เปิดสำหรับบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปชมได้ 

 

สำหรับงานในปีนี้ ไฮไลต์ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ได้จัดแสดงภายใต้แนวคิด “ร่วมพลิกโฉมอนาคตแห่งยานยนต์ – Find Your Future” โดยภายในบูธจัดเต็มทั้งเวที ที่มีการแสดงดนตรี การเต้น  ซึ่งผู้คนจะได้สัมผัสกับชีวิตในสังคมของการเดินทางแห่งอนาคตผ่านกิจกรรมสนุกสนานที่ได้รังสรรค์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น การทดลองปรับแต่งพาหนะ ในการเดินทางตามสไตล์ที่ตัวเองชอบ หรือเกมแข่งรถที่ทุกคนสามารถควบคุมได้เพียงปลายนิ้ว เป็นต้น
 

บรรยากาศ​บูธโตโยต้าในงานJapan MOBILITY​ show 2023

นอกเหนือจากโซนบันเทิงแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการยานยนต์ ที่มีพื้นฐานมาจากจิตวิญญาณของ “Mobility for All” และยังมีการจัดเตรียมจุดถ่ายรูปกับรถบักกี้ที่ไปวิ่งบนดวงจันทร์และอื่นๆ ไว้ให้ผู้ชมได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ล้ำสมัยกลับไป   ส่วนกิจกรรมที่น่าสนใจและห้ามพลาดเมื่อมาที่บูธโตโยต้า สามารถแวะมาที่ CAPSULE BAR (แคปซูลบาร์) โดยด้านท้ายของยานพาหนะจะถูกปรับแต่งให้เป็น “CAPSULE BAR” เพียงตอบคำถามง่ายๆ ได้ จะได้รับของรางวัลเป็นแคปซูลที่บรรจุโมเดลรถยนต์มินิคาร์ ซึ่งมีทั้งหมด 9 แบบ และมีตัวซีเคร็ทให้ได้ลุ้นด้วย

Capsule bar

 

“New Era Operating Steering”หรือ NEO Steer สัมผัสประสบการณ์ขับขี่รูปแบบใหม่ ที่โตโยต้ากำลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถขับขี่รถยนต์ได้โดยไม่ต้องใช้คันเร่ง หรือแป้นเบรก เช่น ขับขี่ในขณะยืน หรือนั่งรถวีลแชร์ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมงานสามารถสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่นี้ผ่านโปรแกรมจำลองการขับขี่เสมือนจริง “Gran Turismo 7” (ซอฟต์แวร์สำหรับ PlayStation 5/PlayStation 4)
 

 

ไฮไลต์ต้องห้ามพลาดนอกเหนือจากกิจกรรมต่างๆภายในบูธแล้ว ก็คือการสัมผัสกับนวัตกรรมยานยนต์ ทั้งโมเดลที่เพิ่งเปิดตัวสู่ตลาดรวมไปถึงโมเดลแ​ละเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต ซึ่งในครั้งนี้โตโยต้าก็จัดหนักจัดเต็มขนมาแบบไม่มีกั๊ก อาทิ

  • คอนเซปต์คาร์ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ในรุ่น “FT-3e”คอนเซปต์โมเดลแบบ SUV  และ “FT-Se”คอนเซปต์โมเดลแบบรถสปอร์ต 
  • “IMV 0” Innovative International Multi-purpose Vehicle 0 (Zero)รถกระบะต้นแบบพลังงานไฟฟ้า 
  • คอนเซปต์โมเดล  “KAYOIBAKO” รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) เป็นรถขนส่งที่มีลักษณะทรงกล่อง 
  • LAND CRUISER Se 
  • EPU รถกระบะคอนเซปต์คาร์ 
  • LAND HOPPER คอนเซปต์การขับเคลื่อนส่วนบุคคลส่งกำลังด้วยไฟฟ้ารูปแบบสามล้อ 
  • JUUรถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้า 
  • Space mobility (ยานพาหนะต้นแบบ)ที่มุ่งสร้างสรรค์การขับเคลื่อนสำหรับใช้งานบนดวงจันทร์และในอวกาศ  
  • เทคโนโลยี NEO Steer คอนเซปต์ค็อกพิทแบบใหม่ที่ใช้มือจับแบบรถมอเตอร์ไซค์ ผสานกับฟังก์ชันของคันเร่งและแป้นเบรกที่อยู่บนพวงมาลัย

ไฮไลต์​รถต้นแบบจากค่ายโตโยต้า
คอนเซปต์คาร์ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ในรุ่น “FT-3e”

“FT-Se”คอนเซปต์โมเดลแบบรถสปอร์ต คอนเซปต์โมเดล  “KAYOIBAKO” รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV)

“IMV 0” Space mobility ยานพาหนะต้นแบบ ,EPU รถกระบะคอนเซปต์คาร์ขนาดกลางเจเนอเรชันใหม่  ,LAND CRUISER Se

 

โตโยต้าเผยว่า การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด "ร่วมพลิกโฉมอนาคตแห่งยานยนต์ — Find Your Future" ถือเป็นการรวบรวมจิตวิญญาณแห่ง "การสืบสานและวิวัฒนาการ"

 

โตโยต้า อธิบายความในแง่ของการสืบสาน โดยระบุว่าโตโยต้า ยังคงมุ่งมั่นเป็นบริษัทที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด (Product Centered) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในแต่ละภูมิภาค (Region Based) โดยมุ่งเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ผ่านการนำเสนอหลากทางเลือกด้านเทคโนโลยี เพื่อมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมเพิ่มคุณค่าของการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

 

ทิศทางในระดับโลกของโตโยต้า

ภายใต้แนวคิดสำคัญคือ "ความเป็นกลางของคาร์บอน" และ "การเพิ่มคุณค่าของการขับเคลื่อน" โตโยต้าได้วาง "คอนเซปต์ของการขับเคลื่อน" อย่างพิถีพิถัน โดยมีเสาหลักสำคัญ ได้แก่ 

  • การใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) 
  • การสร้างความหลากหลาย (Diversification) 
  • การเสริมความอัจฉริยะ  (Intelligence)

 

แนวคิดหลักในการขับเคลื่อนของโตโยต้า

การใช้พลังงานไฟฟ้า

โตโยต้า มุ่งนำเสนอการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multi – Pathway” ผ่านการพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของลูกค้าและของภูมิภาค สำหรับภูมิภาคเอเชียที่มีหลายปัจจัยอันส่งผลกระทบต่อเส้นทางสู่ความเป็นกลางคาร์บอน โตโยต้า นำเสนอแนวทางที่มีความเป็นไปได้ บนพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้งานจริง เรามุ่งนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และพลังงานทางเลือกหลากหลายรูปแบบที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า         เพื่อสร้างความแพร่หลายของการใช้งาน และการใช้งานในทันที  

 

การสร้างความหลากหลาย

การสร้างความหลากหลาย

ภูมิภาคเอเชียเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง โตโยต้า จึงให้ความสำคัญกับการสร้างทางเลือกที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ให้ครอบคลุมทางเลือกในทุกระดับราคา และทุกเซกเมนท์ตั้งแต่รถยนต์ส่วนบุคคลไปจนถึงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

 

ในทวีปเอเชีย โครงการ IMV (Innovative International Multipurpose Vehicle) โดยรถยนต์รุ่น ไฮลักซ์ และ อินโนวา สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของ โตโยต้า เพื่อเติมเต็มความหลากหลาย โดยนับตั้งแต่โครงการ IMV เปิดตัวในปี พ.ศ. 2547 สามารถตอบสนองความต้องการด้านการขับเคลื่อนให้กับผู้ใช้งานทั้งรูปแบบส่วนบุคคลและในเชิงธุรกิจ 

 

นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการจ้างงาน พัฒนา ห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการส่งออก อันมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และวัตถุประสงค์ระดับชาติ ปัจจุบัน โตโยต้า มีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ IMV 0 ซึ่งออกแบบมาสำหรับลูกค้าที่กำลังมองหารถที่มีราคาสามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย ตัวรถยังสามารถปรับแต่งได้หลากหลาย  ช่วยแก้ปัญหาด้านการเข้าถึงการขับเคลื่อนและมาตรฐานชีวิตลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

 

โตโยต้า ยกทัพยานยนต์แห่งอนาคตร่วมงาน JAPAN MOBILITY SHOW 2023 การสร้างความหลากหลายเพื่อการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ โตโยต้า ยังมองหาแนวทางใหม่ๆ สำหรับการขับเคลื่อนทางเลือกอื่น เพื่อให้ทุกคน รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้มีความบกพร่องทางร่างกายสามารถเข้าถึงได้ เรามุ่งสร้างการขับเคลื่อนตามหลักการที่ว่าเราจะ 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' และมอบทางเลือก 'การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน (Mobility for All)' ที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกค้า

การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน (Mobility for All)

 

การเสริมความอัจฉริยะ

ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านการเชื่อมต่อ และการวิเคราะห์ข้อมูล มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมด้านการขับเคลื่อนและโครงสร้างพื้นฐาน โตโยต้า พัฒนาทางเลือกใหม่ด้านการเดินทาง และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้ารายบุคคลและลูกค้าองค์กร เช่น การแนะนำพฤติกรรมของ    ผู้ขับขี่ การติดตามการโจรกรรม หรือการหาข้อมูลเส้นทางที่ดีที่สุด 

 

ทางเลือกใหม่ๆ เหล่านี้ยังสามารถบูรณาการเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานได้ เช่น วงจรการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ อย่างเช่น สัญญาณไฟจราจร โตโยต้า ตระหนักดีว่าการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนของยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอน

การประสานความร่วมมือของการขับเคลื่อนในเอเชีย

ในท้ายที่สุด การใช้พลังงานไฟฟ้า - การสร้างความหลากหลาย - และการเสริมความอัจฉริยะ องค์ประกอบทั้งสามส่วนนี้จะต้องทำงานร่วมกันเป็นระบบนิเวศแบบบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ด้านความเป็นกลางของคาร์บอน และความคุ้มค่าต่อเงินที่เสียไป

 

ในประเทศไทย โตโยต้า ริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อมุ่งสู่ฝันของชาวไทย (Thai Dream trial project) ร่วมกับภาคีอื่นๆ ใน Commercial Japan Partnership Technology (CJPT) เช่น อีซูซุ และฮีโน่ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและไอทีของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างพันธมิตรที่มีจุดยืนร่วมกัน อย่างบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) ภายใต้แผนที่จะแนะนำทางเลือกใหม่ในลักษณะเดียวกันที่บูรณาการการใช้พลังงานไฟฟ้า การสร้างความหลากหลาย และการเสริมความอัจฉริยะ สำหรับประเทศอื่นด้วยเช่นกัน

 

โตโยต้าย้ำว่า ได้ริเริ่มพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้ามาเป็นเวลานานแล้ว และได้พัฒนาเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์มากมาย เช่น HEV และ FCEV นอกเหนือจากนั้น ยังได้เสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับลูกค้าทุกรูปแบบ ดังจะเห็นได้จากรถยนต์ภายใต้โครงการ IMV และคอนเซปต์คาร์ IMV0 

 

ทั้งนี้โตโย้ตาตระหนักว่าการพัฒนาแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนของโตโยต้า จำเป็นต้องบูรณาการการใช้พลังงานไฟฟ้า การสร้างความหลากหลาย และเสริมสร้างความอัจฉริยะ เพื่อทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนขึ้นได้จริง และมอบคุณค่าที่แท้จริงสำหรับการขับเคลื่อน โตโยต้า ตระหนักด้วยว่าโตโยต้าไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้โดยลำพัง และโตโยต้าต้องการให้ทุกคนร่วมเดินไปพร้อมๆ กัน