อินเดียเหยียบคันเร่ง ขอเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าโลก

29 ส.ค. 2565 | 08:50 น.

นายกฯอินเดียประกาศเดินหน้ายุทธศาสตร์สู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น 2 ล้อหรือ 4 ล้อ ลั่นมุ่งมั่น"ปฏิวัติเงียบ" เพื่อผลิตยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อเสียง ไม่ปล่อยก๊าซพิษ

นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวว่า อินเดีย กำลังกลายเป็น ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ทั้งแบบ 2 ล้อและ 4 ล้อ ซึ่งทำให้ประเทศอยู่ระหว่าง "การปฏิวัติเงียบ" เนื่องจากยานยนต์ประเภทนี้ไม่ก่อให้เกิดเสียงขณะขับเคลื่อน และไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม 


ผู้นำรัฐบาลอินเดียกล่าวระหว่างงานเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีการดำเนินธุรกิจในอินเดียของบริษัท ซูซูกิ (Suzuki) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอินเดียกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา


งานเฉลิมฉลองข้างต้นประกอบด้วย การเปิดตัวโรงงานผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในรัฐคุชราตทางตะวันตก และ การเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ของซูซูกิในรัฐหรยาณาทางตอนเหนือ
         

นายโมดีกล่าวว่า "การปฏิวัติเงียบ" ไม่เพียงเกิดขึ้นในภาควิศวกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงอินเดียในภาพรวม ซึ่งได้วางรากฐานตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเพื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีความยั่งยืนกว่าที่เคยเป็นมา 

อินเดียให้สิทธิประโยชน์จูงใจผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อินเดียกำลังดำเนินงานทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมีรัฐบาลกลางออกมาตรการจูงใจแก่ผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มาตรการดังกล่าวรวมถึงลดหย่อนภาษีเงินได้เพื่อให้สินเชื่อรถยนต์ได้ง่ายขึ้น

 

ปัจจุบัน ชาวอินเดียต่างยอมรับว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรูปแบบการขนส่งที่สำคัญ

 

ส่วนพื้นที่ที่ได้รับการปลุกปั้นมุ่งหมายให้เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ชั้นนำของอินเดีย รวมถึงของโลกด้วย ก็คือรัฐคุชราต 

 

เมื่อปี 2561 อินเดียออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างมาก และทำให้ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนแห่งนี้ กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 6 ของโลก         

ต่อมายังมีเหตุการณ์ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญคือ การที่บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกอย่าง "เทสลา" (Tesla) ประกาศแผนการทำตลาดรถอีวี (EV) ในประเทศอินเดียภายในปี 2564 แผนการนี้ทำให้อินเดียหันมาเร่งผลักดันโครงการอุดหนุนให้กับผู้ผลิตรถยนต์อีวี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 

 

สมาพันธ์ India Energy Storage Alliance (IESA) คาดการณ์ว่า ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในอินเดียจะเติบโต 44% ต่อปีนับจากปี 2563- 2570 โดยจะมียอดขายรถยนต์อีวีเพิ่มขึ้นถึง 6.3 ล้านคันในปี 2570 

 

เป้าหมายของรัฐบาลอินเดียนั้น ไม่ต่างจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดและเลิกการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันฟอสซิล ลดมลพิษและการพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียม

อินเดียเร่งขับเคลื่อนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ายังมีอุปสรรคอยู่มากและเป้าหมายที่วางไว้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากยังขาดเงินลงทุน และความต้องการใช้รถยนต์อีวีภายในประเทศก็ยังมีไม่มากนัก และที่สำคัญคือ โครงการเงินอุดหนุนในแต่ละรัฐยังคงมีความแตกต่างกันอยู่

 

ทำให้นโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าครั้งใหม่ล่าสุดของอินเดีย ได้มีการปรับปรุงโดยจัดสรรเม็ดเงินอุดหนุนให้เจาะจงมากขึ้น วางแผนจะใช้เงินทั้งหมด 8,000 ล้านดอลลาร์อุดหนุนผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน

 

โครงการเงินอุดหนุนดังกล่าวข้างต้นมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่มูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์ที่อินเดียใช้เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดส่งออกยานยนต์ของโลก และเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น “ผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก”

 

หนึ่งในสิทธิประโยชน์จูงใจคือ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับเงินคืนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น 2% จากปกติที่คืนอัตรา 4-7% ของยอดขายและมูลค่าการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วน ทำให้นักลงทุนอย่าง Tesla ตัดสินใจเข้ามาลงทุน ขณะที่บริษัทคู่แข่งทั้ง Ford, Volkswagen, Tata Motors และแม้แต่บริษัทท้องถิ่นของอินเดียเอง อย่าง Mahindra & Mahindra พากันวางแผนลงทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

 

รัฐบาลอินเดียมองถึงโอกาสกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้น 14,000 ล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า และคาดว่าการขับเคลื่อนโครงการจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน 5.8 ล้านตำแหน่ง และสร้างรายได้ทางภาษีคืนกลับให้รัฐบาล 4,000 ล้านดอลลาร์