เดินมาถูกทาง กับมาตรการลดราคารถอีวี

25 ส.ค. 2565 | 01:30 น.

บทบรรณาธิการ

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคต และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก

 

รัฐบาลมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ โดยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตในปี 2573 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนอในประเทศด้วย

การจะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ในระยะแรกๆ จำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมหรือจูงใช้รถยนต์อีวี โดยเฉพาะมาตรการด้านการเงินที่จะต้องใช้สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาสนับสนุนให้ราคารถยนต์อีวีถูกลง

 

ที่ผ่านมารัฐบาลได้คลอดมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 3 กลุ่ม ได้แก่ เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน วงเงิน 3 พันล้านบาทให้กับกรมสรรพสามติ ไปแล้ว  รวมถึงลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566

 

จากมาตรการดังกล่าวพบว่า ได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการหนีราคาน้ำมันแพง หันมาใช้รถยนต์อีวีเป็นจำนวนมาก

รายงานจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ แบ่งเป็นรถยนต์ จำนวน 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 8,800 คัน ที่ได้รับการสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน

 

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ได้อนุมัติงบกลาง 2,923.397 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิต

 

การอุนมัติงบเพิ่มเติมอีก เท่ากับว่ารัฐบาล พยายามผลักดันให้มีการใช้รถยนต์อีวีเพิ่มขึ้น และที่สำคัญทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุนผลิตรถยนต์อีวีเร็วขึ้น เพื่อมาสนองตอบต่อความต้องการ ถือเป็นการดำเนินงานที่มาถูกทาง

 

ทั้งยัง เป็นการสนับสนุนเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

 

ภาครัฐตั้งเป้าหมายติดตั้งสถานีชาร์จอีวี 12,000 หัวจ่าย ภายในปี 2573 จากเดือนมิถุนายน 2565 มีสถานีชาร์จติดตั้งแล้ว 2,459 หัวจ่ายทั่วประเทศ เป็นสถานีชาร์จแบบเร็ว QUICK CHARGER 1,116 แห่ง และสถานีชาร์จแบบธรรมดา 1,343 แห่ง

 

ดังนั้น หลังจากนี้ไปคงจะได้เห็นรถยนต์อีวี วิ่งอยู่บนท้องถนนมากยิ่งขึ้น จากมาตรการสร้างแรงจูงใจด้านราคาของรถยนต์อีวีที่ถูกลง