รถจีนตบเท้าลุยไทยปี 2565 - เอ็มจี ป้องผู้นำรถยนต์ไฟฟ้า EV

13 ธ.ค. 2564 | 04:59 น.

ปี 2565 แบรนด์รถยนต์จีนเตรียมเปิดตัวธุรกิจในไทย ทั้งขึ้นไลน์ประกอบ และนำเข้า EV มาจากจีน ด้าน เอ็มจี ลั่นขอรักษาตำแหน่งผู้นำตลาด EV ในไทย เดินหน้าขยายสถานีชาร์จ DC มากที่สุดในประเทศ เกรท วอลล์ มอเตอร์ เร่งนำเข้า Ora Good Cat ส่งมอบให้ลูกค้าที่รอข้ามปี

เอ็มจี (MG) แบรนด์อังกฤษเจ้าของจีน เข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยมีพาร์ทเนอร์ใหญ่อย่าง“ซีพี” หนุนหลัง (แต่ ซีพี ปรับสัดส่วนการถือหุ้นลดลงมาแล้วจากเดิมถือ 49%) ผ่านบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และบริษัทที่ดูแลการขาย บริการหลังการขายคือ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศ ไทย) จำกัด

 

เอ็มจี แบรนด์ในเครือ “เอสเอไอซี” (SAIC) บริษัทรถยนต์อันดับหนึ่งของจีน ซึ่งการทำตลาดในไทยตลอด 7 ปี ถือว่าลงหลักปักฐานได้อย่างสมบูรณ์ สามารถท้าทายพลังของรถแบรนด์ญี่ปุ่นที่ครองตลาดในไทยมานาน

MG Cyberster

จากยอดขายหลักร้อยคันสู่หลักหมื่นคันต่อปี และปี 2564 จะทำตัวเลขสูงสุดใหม่ประมาณ 30,000 คัน โต 6% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ทำได้ 28,316 คัน

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 30,000 คัน และยอดขายที่เติบโตของเอ็มจี ยังตํ่ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และสถานการณ์โควิด-19 โดยรวม

 

ส่งผลให้รถยนต์หลายรุ่นผลิตไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า ทั้งปิกอัพ Extender เก๋งซับคอมแพกต์ MG5 รวมถึง EV จากจีนที่ส่งมาให้แบบจำกัดจำเขี่ย

 

โดย MG ZS EV หมดสต๊อกไปตั้งแต่ครึ่งปีแรก ซึ่งโฉมไมเนอร์เชนจ์เตรียมเปิดตัวต้นปี 2565 จึงกลาย เป็น MG EP EV ตัวถังสเตชันแวกอน ที่ทำยอดขายได้ดีกว่า โดยยอดขายรวมทั้งสองรุ่นในปีนี้น่าจะอยู่ประมาณ 1,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ขาย EV ได้กว่า 800 คัน

MG ZS EV ไมเนอร์เชนจ์

ทั้งนี้ เอ็มจี ประกาศชัดเจนว่า ตนเองเป็นผู้บุกเบิกตลาด EV ในไทย พร้อมเดินหน้าสร้างระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า และภายในปี 2564 ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จ DC ถึง 150 แห่ง และพยายามทำให้ถึง 500 แห่งในปี 2565

นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์- ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เอ็มจีมุ่งมั่นผลักดันสังคมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปีซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอ็มจีไม่ได้เพียงแค่เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังเดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมในทุกมิติควบคู่กันไป

 

“วันนี้เราภูมิใจที่ได้เห็นการเติบโตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจนกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอีกทั้งยังเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลากหลายแบรนด์เริ่มแนะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจัง รวมไปถึงภาครัฐที่ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างชัดเจน”

จาง ไห่โป

“เอ็มจีในฐานะผู้บุกเบิกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศ ตระหนักดีว่านอกเหนือจากมาตรการภาครัฐ การมีผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลายแล้ว การมีเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง และครอบ คลุมจะเป็นตัวส่งเสริมให้ความนิยมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการ MG Super Charge แล้วกว่า120แห่งทั่วประเทศ และมีเป้าหมายอย่างชัดเจนในการติดตั้งเพิ่มเติมอีกกว่า 500 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคม EV ไปอีกระดับ และสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับคนไทย” นายจาง ไห่โป กล่าวสรุป

ในส่วนของโปรดักต์ EV ในปี 2565 MG มีแผนเปิดตัวอย่างน้อย 2 รุ่น หนึ่งในนั่นคือ MG ZS EV ไมเนอร์เชนจ์ ส่วนโปรดักต์ในอนาคต ยังเตรียมนำเข้า MG Cyberster โรดสเตอร์พลังงานไฟฟ้า 100% มาขายในไทยปี 2566 ตอนนี้เปิดให้จองสิทธิ์ซื้อล่วงหน้า ด้วยการให้ลูกค้าวางเงิน 5,000 บาท หรือ 10,000 บาท (แล้วแต่จะเลือก) ซึ่งถึงเวลาเปิดตัวในในอีก 2 ปีเงินจำนวนนี้จะคูณ 10 แล้วนำไปใช้เป็นส่วนลดได้ 50,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับโดยหลังจากเปิดแคมเปญนี้ 1 สัปดาห์มียอดจองเข้ามาแล้ว 424 คัน

 

สำหรับต้นแบบ MG Cyberster จะใช้มอเตอร์ 2 ตัว ขับเคลื่อนล้อหน้าและหลัง อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ประมาณ 3.0 วินาที ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง 800 กม. โดยเอ็มจีจะเปิดให้จองสิทธิ์ซื้อล่วงหน้าภายใต้แคมเปญ MG Cyberster Prestige Reservation จนถึงเดือนมีนาคม 2565

 

เอ็มจี มีเป้าหมายชัดเจนในการขยายธุรกิจในไทย พร้อมการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งปลั๊ก-อินไฮบริด และ EV แต่นับจากปี 2564 ยังต้องเจอคู่แข่งที่ตามมาจากจีน ไม่ว่าจะเป็นน้องใหม่ที่ทุ่มตลาดหนักอย่าง “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ที่ประกาศเปิดตัวรถ 9 รุ่นภายใน 3 ปีแรก (พ.ศ. 2564-2566) ซึ่งทั้งหมดเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (ปลั๊ก-อินไฮบริด และ EV) โดย EV รุ่นแรก Ora Good Cat มียอดจองซื้อเกือบๆ 3,000 คันแต่ยังติดขัดเรื่องการส่งมอบล่าช้า

รถจีนตบเท้าลุยไทยปี 2565 - เอ็มจี ป้องผู้นำรถยนต์ไฟฟ้า EV

ดังนั้น จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าการมาของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ถือเป็นการปลุกให้ เอ็มจี ต้องทำงานอย่างกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น ไม่รวมพวกที่มาแบบเงียบๆ อย่าง บีวายดี และในปี 2565 ยังมี ฉางอัน ขณะที่ จีลี่ เจ้าของวอลโว่ และโปรตอน เริ่มขยับแผนงานในไทยแล้วเช่นกัน

 

นอกจากนี้ บีอาร์จี กรุ๊ป ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายใหญ่ ตั้งบริษัท POCCO (THAILAND) เนำเข้า EV ขนาดเล็กราคาประหยัดจากจีน Pocco มาทำตลาดในไทย โดยช่วงแรกเป็นรุ่นพวงมาลัยซ้าย มี 2 ตัวถังคือ 5 ประตู และ 3  ประตู ราคาต่ำกว่า 4 แสนบาท เริ่มส่งมอบเดือนเมษายน 2565 

 

...ปี 2565 จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องเผชิญกับ ความท้าทายจากปัจจัยแวดล้อมที่ต้องเผชิญอยู่เดิม และยังมีสังเวียนใหม่ที่เปิดหน้าท้าชกโดยแบรนด์จีน จึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง