ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาด "อ่อนค่า" ระดับ 36.72 บาท/ดอลลาร์

21 ก.ค. 2565 | 00:33 น.

ค่าเงินบาทแนวโน้มผันผวนหนัก ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย "ผลการประชุมของ ECB- แนวโน้มวิกฤติพลังงานของยุโรป" กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ตลาดจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนหนัก ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ สองเรื่อง ในวันนี้ คือ ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 

รวมถึง แนวโน้มวิกฤติพลังงานของยุโรป โดยหาก ECB ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด หรือ ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจช่วยหนุนให้เงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาแข็งค่าได้บ้าง แต่เรามองว่า ความเสี่ยงวิกฤติพลังงานจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินยูโร (EUR) อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมากและกลับกัน หากรัสเซียลดหรือยุติการส่งออกแก๊สจริง ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง แม้ ECB จะส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม

ดังนั้น เราจึงมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ และมีความเสี่ยงที่หากอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวจะสามารถอ่อนค่าต่อไปทดสอบระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในกรณีที่ยุโรปเผชิญวิกฤติพลังงานตามที่ตลาดกังวล ทั้งนี้ ผู้ส่งออกจำนวนมากต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ทำให้เรามองว่า หากสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ไม่ได้ถูกเทขายรุนแรง เงินบาทก็อาจจะยังไม่อ่อนค่าทะลุ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ในระยะสั้นได้

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังเดินหน้าทยอยซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Meta +4.2%, Amazon +3.9%) จากมุมมองที่คาดว่าเฟดอาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่เคยกังวล หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.58% ส่วนดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.59%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลดลงราว -0.21% ท่ามกลางความกังวลปัญหาการเมืองในอิตาลีที่กดดันให้ตลาดหุ้นอิตาลีปรับตัวลดลงแรงกว่า -1.60% ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลวิกฤติพลังงานอีกครั้ง เพราะแม้ว่ารัสเซียอาจกลับมาดำเนินการส่งแก๊สธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 หลังครบกำหนดการซ่อมบำรุง แต่ทางประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้เตือนว่า ปริมาณการส่งแก๊สอาจลดลงและรัสเซียก็อาจหยุดส่งแก๊สได้

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.02% แต่โดยรวมการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีลักษณะเคลื่อนไหวในกรอบ เนื่องจาก ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ก่อน เพื่อจับตาท่าทีต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ECB รวมถึงเครื่องมือ Anti-Fragmentation Tool ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ในฝั่งยุโรปและฝั่งสหรัฐฯ ได้เช่นกัน

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้กลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 107.1 จุด แม้จะถูกกดดันโดยภาพรวมของตลาดการเงินที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่เงินดอลลาร์ก็ได้แรงหนุนจากการกลับมาอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ที่อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.018 ดอลลาร์ต่อยูโร อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลวิกฤติพลังงาน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาผลการประชุม ECB ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครอง ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงแตะระดับ 1,692 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญของตลาดจะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) 0.25% สู่ระดับ -0.25% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาท่าทีของ ECB ต่อโอกาสในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% ในอนาคต เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งอาจขึ้นกับมุมมองของ ECB ต่อภาพเศรษฐกิจยุโรป และนอกเหนือจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดคาดว่า ECB อาจเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือ Anti-Fragmentation Tool เพื่อควบคุมปัญหาภาระหนี้ของบรรดาประเทศสมาชิก อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนในฝั่งตลาดบอนด์ที่อาจเกิดขึ้น หากสุดท้าย ECB ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของเครื่องมือดังกล่าวมากนัก ซึ่งอาจยิ่งทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่มีความเปราะบางต่อปัญหาหนี้ อาทิ อิตาลี พุ่งสูงขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี อิตาลี กับเยอรมนี ที่จะปรับตัวสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาปัญหาวิกฤติพลังงานยุโรป หลังครบกำหนดซ่อมบำรุงท่อส่งแก๊ส Nord Stream 1 ว่ารัสเซียจะลดปริมาณการส่งแก๊สหรือยุติการส่งแก๊ส ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปและอาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ฝั่งยุโรป อาทิ หุ้นและเงินยูโร (EUR) ได้

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและความจำเป็นที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องช่วยคุมต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลและภาคเอกชน ทำให้ BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสวนทางกับธนาคารกลางหลักอื่นๆ อาทิ การตรึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไม่ให้เกินระดับ 0.25% (ซื้อบอนด์แบบไม่จำกัด) และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวอาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ในระยะนี้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแตะระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 15 ปี 8 เดือน ก่อนจะกลับมาปรับตัวที่ 36.74-36.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.20 น.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 

เงินบาทและเงินเอเชียอ่อนค่าลงสวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงมีแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในสัปดาห์หน้า และจากสถานะการเป็นสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 36.65-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ ผลการประชุม ECB และ BOJ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และผลสำรวจภาคการผลิตเดือนก.ค.จากเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย