“ดีมันนี่” ลุยพัฒนาแอปพลิเคชัน “DeeMoney Neo”

20 พ.ค. 2565 | 10:34 น.

“ดีมันนี่” อัพสปีดธุรกิจการเงินไร้พรมแดน กระโดดลุยพัฒนา “DeeMoney Neo” แอปฯ พร้อมบุกตลาดกลุ่มลูกค้า MSME กับบริการ “DeeBusiness” และพร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ให้บริการด้าน “Platform”

นายอัศวิน พละพงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวัสดีช้อป จำกัดและผู้ก่อตั้ง ดีมันนี่ (DeeMoney) เปิดเผยว่า  ดีมันนี่ ถือเป็นผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ธนาคาร(Non-Bank)ชั้นนำของไทย จากยอดธุรกรรมปี 2564 ที่มากถึง 2.2 ล้าน คิดเป็นมากกว่า 64,000 ล้านบาทหรือ 2 พันล้านดอลล่าห์สหรัฐ สะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการชำระเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ โดยได้รับแรงหนุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีส่วนในการเร่งการปรับตัวของผู้ใช้งานให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless society) มากขึ้น

“ดีมันนี่” ลุยพัฒนาแอปพลิเคชัน “DeeMoney Neo”

ดีมันนี่ มีจุดแข็งเรื่องค่าธรรมเนียมคงที่ (Flat Fee) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่ดีที่สุด การให้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย และให้บริการที่ครอบคลุมประเทศต้นทางและปลายทางถึง 60 ประเทศทั่วโลก และยังมีเครือข่ายคู่ค้าทางธุรกิจที่แข็งแกร่งมากกว่า 30 ราย ที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินด้านการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา และบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Wallet)

“ระบบเศรษฐกิจและภาคการเงินไทย เข้าสู่ยุคโลกการเงินดิจิทัลไร้พรมแดน 100% สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการโอนเงินข้ามประเทศผ่านแพลตฟอร์มดีมันนี่โต 200% ในช่วง 3 ปีจากปี 2561  ชี้โครงสร้างพื้นฐานการเงินไทยมีแนวโน้มพัฒนาและแข่งขันสูงทั้งจากผู้ให้บริการทั้งในและนอกภาคการเงินเข้ามาแข่งขันและพัฒนาบริการทางการเงินต่อเนื่อง”นายอัศวินกล่าว

 

สำหรับปีนี้บริษัทฯ มุ่งก้าวขึ้นสู่การเป็นแพลตฟอร์ม (Platform) โดยจะพัฒนา “DeeMoney Neo” แอปพลิเคชันและ DeeBusiness Portal บริการทางการเงินระหว่างประเทศระดับโลก เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นศูนย์กลาง (Hub) ผ่านบริการเชื่อมต่อ API กับแพลตฟอร์ม (Platform) ภายใต้ชื่อ DPaaS ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนบริการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการให้บริการลูกค้าได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการพัฒนา

ขณะเดียวกัน ดีมันนี่จะขยายขีดความสามารถการให้บริการครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยและทั่วโลก โดยใช้ 4 กลยุทธ์สำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่

 

  1. ขยายประเทศผู้รับเงินปลายทาง (Outbound corridor) โดยวางเป้าหมายที่ 50 ประเทศปลายทาง
  2. เชื่อมต่อธนาคารพานิชย์ไทยสำหรับบริการ Inbound Payout เพื่อขยายเครือข่ายการรับเงินโอนจากต่างประเทศ (Inbound remittance) ให้ครอบคลุมบัญชีธนาคารต่างๆ ในประเทศ
  3. จับมือร่วมกับพันธมิตรเพิ่มพาร์ทเนอร์ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นธนาคารและผู้ให้บริการประเภท Non-Bank ต่างๆ ใน Ecosystem เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการที่เปิดกว้าง รวมไปถึงพัฒนาบริการใหม่ๆ ในการขยายบริการใหม่และบริการเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยใช้ประโยชน์จากช่องทางการให้บริการที่ได้มาตรฐาน เพื่อครอบคลุมทุกรูปแบบการทำธุรกรรมใน Ecosystem ทำให้มีทางเลือกการจ่ายเงินและ รับเงินหลายวิธี
  4. แผนการพัฒนา Talent Acquisition จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์

 

จากกลยุทธ์ทั้งหมดของ DeeMoney มุ่งเน้นไปที่ Coopetition หมายถึง การทำงานร่วมกันกับผู้ให้บริการรายอื่นมากกว่าการมองว่าเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ หรือสร้างการแข่งขัน เพราะ DeeMoney เชื่อว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ Coopetition จะสร้างมูลค่า ให้กับ Payment Ecosystem ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ที่จะส่งผลดีต่อลูกค้าหรือผู้ใช้บริการได้ดีที่สุด มากกว่าการแข่งขันโดยไม่แบ่งปันมูลค่า ให้แก่ Ecosystem มีแต่จะสร้างผลเสียต่อ Financial Ecosystem โดยรวม

 

สำหรับปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าให้ธุรกิจระหว่างประเทศเติบโตที่ 30% โดยให้ความสำคัญไปที่ 3 กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่

 

  • กลุ่มลูกค้าบุคคลรายย่อย ผ่านช่องทาง Mobile Application “DeeMoney Neo” ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายพัฒนาเป็น Borderless NeoBank เป็นโซลูชั่น Send, Spend, Save, Receive ของบริการทางการเงินระหว่างประเทศเต็มรูปแบบ
  • กลุ่มลูกค้า Business และผู้ประกอบการ MSME ผ่านช่องทาง “DeeBusiness Portal” เพื่อเป็น Supply Chain กับผู้ประกอบการ ให้เกิดความสะดวก ประหยัด ปลอดภัย
  • กลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน (Financial Institution) ผ่านเทคโนโลยีแพลตฟอร์มบริการทางการเงินที่เรียกว่า DPaaS โดยให้ลูกค้ากลุ่มสถาบันทางการเงิน สามารถเริ่มให้บริการทางการเงินโดยใช้การ Plug-and-Play เข้ากับแพลตฟอร์มของบริษัทฯ

 

แอปพลิเคชัน “DeeMoney Neo” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android พร้อมลงทะเบียนโดยใช้นวัตกรรม eKYC ได้ด้วยตนเองเพียงขั้นตอนง่ายๆ ยิ่งไปกว่านั้นจะมีการนำเทคโนโลยี NFC Passport reader เข้ามาใช้ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนได้ง่ายยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนในการยื่นและจัดเก็บเอกสารแสดงตน

 

ส่วนของ “DeeBusiness Portal” บริษัทฯ เน้นไปที่การเพิ่มฟีเจอร์การให้บริการรับโอนเงินจากต่างประเทศ และพัฒนาบริการปัจจุบันให้สะดวกยิ่งขึ้น นับว่าเป็นการลดการพึ่งพาช่องทางจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว สามารถลดภาระด้านเอกสาร และลดต้นทุนจากค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง

 

สำหรับแผนโรดแมพสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างเทคโนโลยีให้รองรับการให้บริการออกบัตรร่วมกับบริษัทฯ VISA เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถชําระเงินได้ทั่วโลก และแผนโรดแมพในการให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในสกุลเงินต่างประเทศภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มเติมจากบริการโอนเงินระหว่างประเทศ บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา  และบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Wallet) อีกด้วย