KS หั่นเป้าดัชนีปีนี้เหลือ 1,650 จุด แนะ 17 หุ้น"เติบโต- ผลตอบแทนสูง"

09 พ.ค. 2565 | 00:55 น.

บล.กสิกรไทย(KS) ปรับลดเป้าดัชนีหุ้นไทยปี 65 เหลือ 1,650 จุด จากเดิมที่ 1,680 ชี้หลายปัจจัยเสี่ยงภายนอกรุมเร้า มองเงินเฟ้อยังสูงอีกนาน กดดันเฟดจำเป็นต้องตรึงนโยบายการเงิน ภาวะเศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย แนะธีมลงทุนชู 17 หุ้น เติบโต-ผลตอบแทนสูง

บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย หรือ KS ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ได้ปรับลดเป้า SET Index ปี 2565 เป็น 1,650 (จากเดิม 1,680 จุด)  เนื่องจากความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความกลัวต่อมาตรการรัดเข็มขัดของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เงินหยวนที่ออนค่าลง การปรับประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) รวมถึง ระดับการใช้มาร์จิ้นที่สูงในตลาด เราจึงได้ปรับเป้าหมาย SET Index ปี 2565 ของเราลงเป็น 1,650 จุด (จากเดิม 1,680 จุด) อิงตาม EPS ที่ 100.4 บาท และส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรกับตลาดหุ้น (EYG) ที่ -0.875SD 

 

ขณะที่ประมาณการ EPS ล่วงหน้า 12 เดือนของตลาดถูกปรับขึ้นเป็น 100.4 (+1.5% MoM) และ EPS ถูกปรับฐานไปเป็นปลายไตรมาส 2/2565 จากเดิมคือสิ้นไตรมาสแรก เรายังปรับคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี สิ้นปี 2565 ขึ้นเป็น 2.60% จากเดิม 2.40% ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของ KBANK

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในไตรมาส 2/2565 

 

SET Index ทำผลงานได้ดีกว่า MSCI ACWI 5% ในเดือน เม.ย. 2565 และ 12% YTD แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลก ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าฟื้นตัวเร็วขึ้น จากการผ่อนปรนมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ อย่างไรก็ดีนักลงทุนไม่ควรดีใจเร็วเกินไป เนื่องจาก

 

1. จีนและฮ่องกง (30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าของไทยในปี 2562) ยังคงบังคับใช้มาตรการเข้า-ออกประเทศที่เข้มงวดภายใต้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ 

2.ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงไม่คลี่คลาย

3.อัตราเงินเฟ้ออาจยังคงสูงขึ้นเป็นเวลานาน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง  

4. Fed จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับนโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่อาจก่อให้เกิดความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสภาวะถดถอย 5 รอบจาก 6 รอบที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2518 ส่วนนึงเกิดจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด 

5.ขณะที่จีนอาจเลือกปรับลดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าเพื่อกระตุ้นการส่งออกและหักลบความเสียหายที่เกิดจากมาตรการล็อกดาวน์ 

 

เรามองว่าค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดจนกระทั่งเดือน เม.ย. 2565 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการส่งออกและเงินทุนไหลออกเช่นเดียวกับในปี 2558 ส่วนการส่งออกของไทยเคยลดลง -5.9% YoY ในปี 2558 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 664 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดหุ้นไทยและ -4.4 พันดอลลาร์ฯ ในตลาดตราสารหนี้ ส่วน GDP ที่ลดลงและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทไทย โดยเราคาดว่าประมาณกำไรจะถูกปรับลดลง หลังจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2565 

KS หั่นเป้าดัชนีปีนี้เหลือ 1,650 จุด แนะ 17 หุ้น"เติบโต- ผลตอบแทนสูง"

 

ธีมการลงทุนและหุ้นแนะนำประจำเดือน พ.ค.

 

  • ผู้เล่นเติบโตสูง (BE8 RBF และ CHAYO) เราคาดว่าหุ้นทั้ง 3 ตัวจะรายงานกำไรสุทธิที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2565-66 
  • ผู้เล่นอัตราตอบแทนสูง (KKP KTB DCC และ DTAC) หุ้นปันผลมักจะเคลื่อนไหวดีกว่าตลาดในช่วงที่ตลาดอ่อนตัวลง
  • ผู้เล่น Defensive (GPSC และ EPG) ราคาน้ำมันที่ลดลงน่าจะส่งผลดีต่อ GPSC และ EPG จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง
  • อุปสงค์การเดินทางที่อั้นไว้ (BH MINT SHR BEM และ SPRC) การเปิดเศรษฐกิจ การผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางและอุปสงค์ที่อั้นไว้น่าจะช่วยกระตุ้นจำนวนคนไข้ของ BH และช่วยกระตุ้นอัตราการเข้าพักและ ADR ของ MINT และ SHR รวมถึงจำนวนผู้โดยสารของ BEM และอัตราการกลั่นของ SPRC
  • ผู้ที่ได้ประโยชน์จากค่าระวางเรือที่ลดลง (ASIAN SAPPE และ SCGP) ผู้ส่งออกและนำเข้าน่าจะได้รับประโยชน์จากอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงในปี 2565

 

สอดคล้องกับ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ล่าสุดได้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET Index ในปีนี้มาอยู่ที่ 1,750 จุด จากเดิม 1,800 จุด จากปัจจัยเสี่ยงรอบด้านกดดัน โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยลบค่อนข้างเพิ่มสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยปี 2565 หลายสำนักคาดการณ์เติบโตไม่ถึง 3% จากผลกระทบน้ำมันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

 

FETCO ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ(GDP) ปีนี้เหลือ 2.8% จากเดิมคาดโต 3.6%  ซึ่งน่าจะต่ำที่สุดในเอเชีย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงเพราะไทยนำเข้าพลังงานมากกว่าหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย แต่ด้านอื่น ๆ ยังดูดี อาทิ เงินสำรองระหว่างประเทศที่ยังมีปริมาณมาก เมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ระยะสั้น ทำให้ต่างชาติยังเชื่อมั่นไทย โดย 4 เดือนแรกปีนี้ซื้อสุทธิหุ้นไทยกว่า 1.2 แสนล้านบาท

 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่าทิศทางตลาดหุ้นไทย น่าจะกลับสู่ขาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แนวโน้มการคลายล็อกดาวน์ในจีน และการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหลักในประเทศคือ เสถียรภาพทางการเมืองและการกลับมาแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่