หุ้นไทย 4 เดือนแรกผงกหัว 0.6% เงินไหลเข้ากว่า 1.18 แสนล้าน

08 พ.ค. 2565 | 03:08 น.

ตลท.รายงานภาวะตลาดหุ้นไทยเดือน เม.ย. ชี้หลายปัจจัยกระทบฉุดดัชนี SET ปรับลด 1.6% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ 4 เดือนแรกปีนี้ ดัชนียังผงกขึ้น 0.6% แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเปิดเมือง กลุ่มบริการ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มทรัพยากร เผยฟันด์โฟลว์ไหลเข้าแล้วกว่า 1.18 แสนล้าน

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2565 ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จากที่ประกาศในคราวก่อนหน้าผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นมากโดยเฉพาะราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงจนถึงปี 2566 นอกจากนี้ การประกาศ Lockdown อย่างเข้มงวดในจีนตามนโยบาย Zero COVID Policy ทำให้ผู้ลงทุนกังวลเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเป็นการซ้ำเติมปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก


ประกอบกับ ธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกถูกกดดันให้ต้องเลือกระหว่างการควบคุมเงินเฟ้อโดยดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น กับการรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งกำลังฟื้นตัวหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยนักวิเคราะห์คาดว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาด ทำให้ Real Yield ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ

 

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

เงินไหลเข้า 4 เดือนกว่า 1.18 แสนล้าน

 

นายศรพล กล่าวต่อว่า ผู้ลงทุนต่างชาติย้ายเงินทุนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นในภูมิภาค ASEAN โดยใน 4 เดือนแรกปี 2565 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการเติบโตสูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังคงอัตรากำไรต่อหุ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่เพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปี 2564

 

ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 SET Index ปิดที่ 1,667.44 จุด ปรับลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ยังปรับเพิ่มขึ้น 0.6% โดยได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงค์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มทรัพยากร


ในเดือนเมษายน 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 82,322 ล้านบาท ลดลง 11.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 4 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 93,245 ล้านบาท 

 

โดย ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศกลับมามีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ระดับ 43.75% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ตามด้วยผู้ลงทุนต่างประเทศ 41.48% ซึ่งผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ห้า โดยในเดือนเมษายน 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 9,780 ล้านบาท ทำให้ใน 4 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 118,120 ล้านบาท

 

หุ้นไทย 4 เดือนแรกผงกหัว 0.6% เงินไหลเข้ากว่า 1.18 แสนล้าน

ในเดือนเมษายน 2565 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.เจดีฟู้ด (JDF) และใน mai 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.ตาชำนิ (CEYE)

 

Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 17.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.3 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.3 เท่า

 

อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 2.66% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.51%

 

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

ในเดือนเมษายน 2565 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 379,723 สัญญา ลดลง 45.9% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 ปีเดือนแรกของปี 2565 TFEX ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 577,227 สัญญา เพิ่มขึ้น 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน