ธนารักษ์เมิน‘อีสท์วอเตอร์’ ลุยไฟเซ็นสัญญา‘วงษ์สยาม’

01 พ.ค. 2565 | 08:57 น.

ธนารักษ์ไม่สนคำฟ้อง“อีสท์วอเตอร์” เดินหน้าเซ็นสัญญา “วงษ์สยาม” บริหารท่อส่งน้ำ EEC ภาคตะวันออก 3 พ.ค.นี้ พร้อมรับเงินก้อนแรก 500 ล้านบาท เชื่อหากแพ้คดีจริง เสียค่าโง่น้อยกว่าประโยชน์ที่รัฐจะได้ในอนาคต

แม้จะมีปัญหาการฟ้องร้องกันระหว่างบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ผู้บริหารจัดการน้ำดิบผ่านท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกกับคณะกรรมการที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ แต่กรมธนารักษ์ยังเดินหน้าที่จะลงนามในสัญญาโครงการสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกกับบริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะการประมูลรายใหม่ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2565นี้

 

นายประภาศ คงเอียด อธิบกรมธนารักษ์เปิดเผยว่า ขณะนี้ถือว่า กระบวนการคัดเลือกผู้บริหารจัดการน้ำดิบผ่านท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังคณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565ให้บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัดเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งหลังการลงนามในสัญญาจะทำให้รัฐบาลได้รับเงินก้อนแรก 500 ล้านบาท และเมื่อเริ่มต้นสัญญา วงษ์สยามฯ จะจ่ายเงินให้รัฐอีก 1,000 ล้านบาท 

นายประภาศ คงเอียด อธิบกรมธนารักษ์

 ทั้งนี้กรมธนารักษ์ได้ทำหนังสือถึง “อีสท์วอเตอร์” ให้ทำการสำรวจและส่งคืนทรัพย์สินมายังกรมธนารักษ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้า อัยการได้ปลดล็อกให้กรมธนารักษ์สามารถลงนามสัญญากับ “วงษ์สยาม” ได้เลย โดยไม่ต้องรอส่งมอบรายการทรัพย์สินและได้รับความยินยอมจาก“อีสท์วอเตอร์”ก่อน ในฐานะผู้ได้รับสิทธิบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญา 31 ธันวาคม 2567

 

“เมื่อมีการเซ็นสัญญากับวงษ์สยาม และมีการเริ่มต้นสัญญา เท่ากับว่ารัฐจะได้เงิน 1,500 ล้านบาท จึงถามว่า จะต้องมีความกังวลอะไร เพราะตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา รัฐได้ส่วนแบ่งจากอีสท์วอเตอร์แค่ 500 กว่าล้านบาทตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมา”นายประภาสกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สมมุติว่า หากธนารักษ์แพ้คดี และศาลสั่งชดใช้ค่าเสียหาย บริษัทที่ฟ้องจะต้องพิสูนจ์ค่าเสียหายให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การคาดการณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยส่วนตัวมองว่า หากกรมธนารักษ์แพ้คดีจริง และต้องจ่ายค่าเสียหาย ก็คงไม่มากเท่ากับผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับในอนาคตจากวงษ์สยามฯ

 

ขณะที่ประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น คดีหลักที่อีสท์วอเตอร์ ฟ้องร้องกรมธนารักษ์ คือ การยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งระบุว่า มีความมิชอบ โดยได้ทำการฟ้องต่อศาล เพื่อให้พิจารณาให้ดำเนินการคัดเลือกครั้งที่ 1 ต่อไปจนจบ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่มีคำพิพากษาจากศาล

 

สำหรับประเด็นการฟ้องร้องดังกล่าว เนื่องจากในการเปิดคัดเลือกเอกชนในการบริหารและดำเนินกิจการในโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 ไม่ได้มีการกำหนดใน TOR อย่างชัดเจนถึงศักยภาพของท่อส่งน้ำตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ระบุว่า ศักยภาพของท่อส่งน้ำจะอยู่ที่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ธนารักษ์เมิน‘อีสท์วอเตอร์’ ลุยไฟเซ็นสัญญา‘วงษ์สยาม’

ในการประมูลดังกล่าว จะมีการยื่นข้อเสนอ 2 ด้านคือ ด้านเทคนิคและด้านราคา โดย “อีสท์วอเตอร์” ได้เสนอศักยภาพในการส่งน้ำอยู่ที่ 350 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งรวมถึงท่อในส่วนของ “อีสท์วอเตอร์” เองด้วย

 

ขณะที่ วงษ์สยามฯ ได้เสนอเทคนิคอยู่ภายในกรอบ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่รัฐจะได้พบว่า “อีสท์วอเตอร์” เสนอให้รัฐประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่อีกบริษัทเสนอให้รัฐ 6,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้การเสนอด้านเทคนิดต้องเสนอเฉพาะศักยภาพท่อส่งน้ำของธนารักษ์ ดังนั้นจะเอาศักยภาพอื่นมารวมไม่ได้ คณะกรรมการที่ราชฯ จึงยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 และเปิดให้มีการประมูลใหม่ โดยมีการกำหนดชัดเจนใน TOR ถึงศักยภาพด้านเทคนิค

 

หลังเปิดประมูลครั้งที่ 2 พบว่าทั้ง 2 บริษัทมีการเสนอศักยภาพในการส่งน้ำที่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่ากัน ขณะที่ผลตอบแทนรัฐ “อีสท์วอเตอร์” เสนอที่ 24,000 ล้านบาท และ “วงษ์สยาม” เสนอที่ 25,000 ล้านบาท

 

“อีสท์วอเตอร์” ได้ยื่นฟ้องต่อศาลในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2564 พร้อมยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้หยุดทุกกระบวนการคัดเลือกเอกชน โดยให้รอคำพิพากษาของศาลจนกว่าจะถึงที่สุด ซึ่งศาลสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า ไม่มีเหตุที่ต้องคุ้มครอง ต่อมา อีสท์วอเตอร์ได้ยื่นต่อศาลครั้งที่ 2 เพื่ออุทธรณ์ ซึ่งศาลสั่งไม่รับ ทำให้กรมธนารักษ์ดำเนินการต่อ ไม่เช่นนั้นจะขัดต่อกฎหมาย มาตรา 157

 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 มีนาคม 2564 “อีสท์วอเตอร์” ได้เพิ่มเติมคำฟ้องต่อศาล โดยฟ้องคณะกรรมการที่ราชฯ ที่มีมติรับรองให้ “วงษ์สยาม” เป็นผู้ชนะพร้อมยื่นคำร้องฉุกเฉินขอคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลสั่งยกคำร้องเป็นครั้งที่ 3

 

“กรมธนารักษ์จึงได้เดินหน้ากระบวนการเซ็นสัญญา เพราะหากล่าช้า กรมธนารักษ์จะมีความผิดทางละเมิด เข้าข่ายประมาณที่ทำให้ผลประโยชน์เข้าสู่รัฐล่าช้าด้วย” นายประภาศกล่าว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,779 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565