ถอดบทเรียน SCB10X กับการเข้าสู่โลก Metaverse

26 มี.ค. 2565 | 04:52 น.

SCB10X เผย โลกเมตาเวิร์ส ยังเป็นเรื่องใหม่ แต่อาศัยการลงทุนเป็นการเรียนรู้ แจงเข้าซื้อพื้นที่ 3x3 ในแซนด์บ็อก เพื่อทดลองและเรียนรู้ ยังไม่มีแผนชัดเจน แต่เห็นโอกาสจากขนาดตัวเลขแค่ 2-3 ปีพุ่ง 24 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าจีดีพีไทย 2 เท่า

CB Insights หน่วยงานจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลความเคลื่อนไหวเชิงลึกในวงการ ventures/ startups และ VC funds ทั่วโลกได้จัดอันดับ Corporate Venture Capital (CVC) fund ทั่วโลกปี 2564 พบว่า  SCB10X ได้รับการจัดอันดับ 2 ของ Global CVC fund  มีคะแนน 850 เท่ากับ PayPal Venture จากสหรัฐอเมริกา

 

 ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัดหรือ SCB10X เปิดเผยถึงความสำเร็จของ SCB10X ว่า SCB10X ใช้การลงทุนเป็นการเรียนรู้ เพราะ SCB10X  เป็นบริษัทลูกของธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB ตั้งมาได้ประมาณ 2 ปี ด้วยความตั้งใจที่ว่า เรามองไปข้างหน้าเห็นสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ต้องเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มอย่างไร โดยดูเรื่องของเทคโนโลยีเป็นหลัก จึงมองไปที่บล็อกเชน ฟินเทค เมตาเวิร์ส เพราะสิ่งหล่านี้ จะเข้ามากระทบกับองค์กรใหญ่

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด

ดังนั้น จึงได้เตรียมความพร้อมผ่านการลงทุนและสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งสิ่งที่เราค้นพบคือ พอเราลงทุนอะไร เช่น ลงทุนในกองทุนร่วมทุน หรือ Venture Capital เราจะเห็นอะไรที่ไกลๆ ออกไป อย่างสิ่งที่เห็นวันนี้ เราลงทุนมาสัก 3-4 ปีแล้วอย่างบล็อกเชน เพียงแต่เริ่มปรากฎในพื้นที่สื่อประมาณ 1 ปีหรือครึ่งปีที่ผ่านมา

 

“วันแรกที่ SCB เราตั้งบริษัทหนึ่งชื่อว่า บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ด้วยเงินลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันเงินลงทุนเราประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยวันแรก สิ่งที่พูดกับคณะกรรมการคำเดียวเลยว่า 50 ล้านดอลลาร์เป็นเงินทดลอง ถ้าวันหนึ่งสูญหายไป ไม่มีใครติดใจใช่มั้ย กรรมการทุกคนบอกเอาไปเลย เอาไปทดลอง” ดร.อารักษ์กล่าว

จึงนำเงินลงทุนไปทำโน่น ทำนี่ จนเราค่อยๆ เรียนรู้ ทีละขั้น 1 2 3 มีผิดมีถูกระหว่างทางตลอด จึงอยากฝากไว้ว่า การจะสร้างองค์กรหนึ่งที่มีโอกาสสร้างนวัตกรรม ต้องให้โอกาสน้องๆ กล้าไปเสี่ยง โดยที่มาเรียนรู้และมาแบ่งปัน มากกว่าที่บอกว่า ทำไมไปทำความเสียหายเกิดขึ้น

 

สำหรับ SCB10X เองก็ไม่รู้ว่า เมตาเวิร์สคืออะไร แต่สิ่งที่เราทำคือ เราก็ไปซื้อพื้นที่แซนด์บล็อกไว้  ซึ่งวันนี้ยังไม่เปิดให้บริการ แต่ให้มีพื้นที่ได้เข้าไปทดลองก่อนได้ ลองใช้ สร้างตึกโน่น นี่ของเรา เมื่อวันหนึ่งที่เปิดให้บริการได้ จะมีพื้นที่ 3x3 ไม่ได้ใหญ่มาก แต่จะสร้างเป็นสำนักงานใหญ่ของ SCB10X ขึ้นมา โดยวัตถุประสงค์ว่า อีกหน่อยจะใช้เป็นที่ประชุมกันได้ อาจมีการจัดให้มีการแข่งขัน ให้น้องๆที่อยู่ทั่วโลกมาประชุมกัน มาทดลองทำอะไรต่างๆ ได้

 

เมตาเวิร์สตอนนี้ ถือว่า ยังเป็นเรื่องของแนวคิดและทดลอง เมื่อเราเปิดสำนักงานใหญ่แล้ว เรื่อง NFT อาจให้คนที่ทำงานในคอมมิวนิตี้เอางานมาโพสต์ได้ มีการประมูลได้ เรื่องของการประชุม หรือพัฒนาอะไรร่วมกัน ตอนนี้ถือว่า ยังไม่ได้เข้าสู่การทำธุรกรรมอย่างเต็มรูปแบบ เป็นช่วงของการเรียนรู้ว่า เมตาเวิร์สคืออะไร จะทำอะไรได้บ้าง จากนั้นค่อยไปคิดว่า จะทำอะไร เพราะทุกวันนี้ คนยังเข้าไม่ถึงเมตาเวิร์ส เพียงแต่ต้องเตรียมไว้ก่อน อาจต้องสร้าง 1-2 ปี จึงจะมีคนเริ่มเข้ามาใช้

ถอดบทเรียน SCB10X  กับการเข้าสู่โลก Metaverse

“สิ่งสำคัญคือ พวกผมไม่ได้คาดหวังว่า จะมีอะไรออกมา แต่การที่น้องๆ ที่ไปหัดทำมันมีประโยชน์มาก ฝีมือน้องสามารถออกแบบได้เอง เขียนโค้ดเอง มีอวตารของผม เพราะเชื่อว่า แม้เมตาเวิร์สจะเป็นเรื่องใหม่ แต่อีก 5-10 ปีเชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ เหมือนกับ 30 ปีที่แล้วที่เราก็ยังงงว่า อินเตอร์เน็ตคืออะไร การส่งจดหมายทางอีเมล์จะปลอดภัยหรือไม่ ซึ่ง 30 ปีต่อมาไม่มีใครตั้งคำถามอีก เมตาเวิร์ส ก็คงเหมือนกัน”ดร.อารักษ์กล่าว

 

ส่วนแนวทางการกำกับดูแลจากทางการนั้น ดร.อารักษ์บอกว่า ถ้าถามคนที่เป็นคนพัฒนาเมตาเวิร์ส เขาจะบอกว่า อย่ามีการกำกับดูแล วิธีเดียวที่จะกำกับดูแลคือ ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรมที่คอมมูนิตี้ร่วมกันสร้าง เขาจะบอกว่า โลกนี้ universe นี้ ถูกกำกับด้วยวิธีนี้ ธุรกรรมที่เกิดขึ้น การซื้อขายสินค้าเกิดจากการที่ใช้บล็อกเชนเป็นตัวกำกับว่า ธุรกรรมนี้ีเกิดขึ้นจริง  NFT เหล่านี้มีจริง จึงไม่ต้องมีผู้กำกับดูแล ไม่ต้องมีใครเข้ามาบอกว่า อันนี้เป็นอะไร อันนี้ต้องทำยังงัย เพราะขัดสปิริตของการกระจายอำนาจ ไม่มีตัวกลางของบล็อกเชนต่างๆ

 

ในชีวิตจริง พอมีเรื่องเงิน เรื่่องทองเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจต้องมีการดูแลระดับหนึ่ง แต่อาจเป็นการดูแลเบื้องต้นของการเข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส อย่างเช่น คนที่โอนเงินหรือทำธุรกรรมต่างๆ จะทำอย่างไรให้มั่นใจว่า ไม่เป็นธุรกรรมสีเทา ไม่เกิดทำการฟอกเงิน เพราะข้อเสียของคริปโต ที่หลายคนพูดถึงคือ เมื่อโอนไปมันเข้าสู่โลกมืด ไม่มีใครรู้เลยว่า อะไรบัญชีไหน

 

อย่างไรก็ตาม มันก็มีวิธีและมีบริษัทจำนวนมากที่สร้างขึ้นมาเพื่อมาแก้ปัญหานั้น เช่น บริษัทหนึ่งเขาบอกว่า เขาใช้ Analytic ในการวิเคราะห์ เพราะบล็อกเชนมีข้อดีคือ ทุกวอลเล็ตที่อยู่บนทั่วโลกมันมองเห็นกัน เขาก็จะไปดูว่า วอลเล็ตนี้ เคยมีคนบอกว่า มีปัญหา เขาก็จะให้คะแนนไว้ แล้วก็จะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนสร้างเป็นแผนที่ได้ว่า วอลเล็ตนี้สีขาวสวย วอลเล็ตนี้สีดำ มีปัญหาแน่นอน เขาเคยถูกฟ้องอะไรแล้ว ส่วนอันไหนยังไม่มั่นใจ ก็จะเทาๆ ไว้ก่อน

 

ดังนั้นทุกครั้ง ที่จะทำการโอน เขาก็จะให้บริการก่อนที่วอลเล็ตหนึ่งจะโอนไปหาอีกวอลเล็ตหนึ่ง ก็จะถามว่า เอาจริงเปล่า วอลเล็ต นี้คะแนนไม่ดีนะ อาจมีการเก็งกำไรเกิดขึ้น ซึ่งทุกอย่างไม่มีตัวกลาง เพราะใช้คอมพิวเตอร์ เพราะเรื่องนี้ใช้ระบบในการกำกับดูแล มันเป็นโลกที่เชื่อในโปรแกรม เชื่อในการที่มนุษย์คอมมิวนิตี้ร่วมกันสร้างกฎ ไม่ได้เชื่อว่า จะต้องมีผู้ออกกฎมาแล้วมาคุมกฎ ซึ่งสมัยก่อนที่ไม่มีความไว้ใจกัน จึงมีผู้คุมกฎมาจะเป็นตัวกลาง

 

ส่วนตัวผมมองว่า ในการที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า จะต้องสมดุล ให้การกำกับดูแลในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาการและนวัตกรมเกิดขึ้นได้

 

อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าอีก 2-3 ปี เมตาเวิร์สจะมีขนาด 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 24 ล้านล้านบาทใหญ่กว่าจีดีพีของประเทศไทยอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 2 เท่าและมีมูลค่าทางการตลาด 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 1.2 ล้านล้านบาทใหญ่เท่ากับขนาดของบริษัท ปตท. และจะมีสร้างงานถึง 20 ล้านตำแหน่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,769 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2565