เศรษฐกิจไทยบนปากเหว ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

26 มี.ค. 2565 | 02:02 น.

ส่องความเสี่ยง เศรษฐกิจไทยปี 65 ตลาดการเงิน คาดแนวโน้มบาทอ่อนค่า หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย โอกาสแตะ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปี ชี้ทิศเงินทุนไหลออก หวั่นเศรษฐกิจโลกย่อตัวเหลือโต 2.5% ท่ามกลาง สงครามรัสเซีย-ยูเครน

การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุด มีมติปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ย ระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ และยังมีการคาดการณ์ว่า เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งๆ ละ 0.25% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% ในปลายปี 2565

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางตลาดการเงินหลังจาก ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณที่จะปรับเพิ่มถึงสิ้นปี ทำให้ค่าเงินบาท มีแนวโน้มอ่อนค่า สวนทางดอลลาร์ที่แข็งค่าไปก่อนหน้าและแนวโน้มจะยังแข็งค่าต่อ ส่งผลให้เงินจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี

 

ดังนั้นแนวโน้ม ค่าเงินบาท มีโอกาสจะเห็นอ่อนค่าไปที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปี จากเดิมมองไว้ 36 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวโน้มขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) จากอัตราผลตอบแทนระยะสั้นปรับลดลง แต่บอนด์ระยะยาวอาจจะชันขึ้นบ้างตามอัตราดอกเบี้ยบอนด์สหรัฐอายุ 10ปี

เศรษฐกิจไทยบนปากเหว  ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

 อย่างไรก็ตาม ttb Analytics ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเหลือ 3.0% จากการบริโภคชะลอ ระดับราคาสินค้าเพิ่มสูง บวกภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง และกำลังซื้อหลังหักค่าใช้จ่ายจะลดลง ขณะเดียวกันราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มและขาดแคลนจะดึงการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยที่ภาคการส่งออกยังไปได้ 7-8% 

 

 

นายพูน พานิชย์พิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า หลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาท อาจจะผันผวนในกรอบกว้างได้ จากปัจจัยพื้นฐานที่ยังไม่ค่อยดี แต่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก ยกเว้นเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งจนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอมากกว่าคาด ซึ่งกรณีนี้จะกระทบทั้งโลกด้วย

 

นอกจากนั้น ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผ่านมาในรูปของราคาสินค้าพลังงานสูง ทำให้เกิดภาวะราคาสินค้าอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ค่าครองชีพคนไทยปรับสูงขึ้น กระทบการบริโภคเอกชนได้แล้ว และหากทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงด้วย อาจทำให้การส่งออกไทยมีปัญหาบ้าง รวมถึง การท่องเที่ยวที่อาจมีจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าคาด

 

อีกปัจจัยเสี่ยงที่น่ากลัวพอควรคือ เศรษฐกิจจีนจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีหรือไม่ หลังเจอการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง ซึ่งจะกดดันทั้งการส่งออกไทยไปจีน รวมถึง ความหวังว่าจีนจะปรับกลยุทธ์รับมือหรือปรับแผน Zero COVID ซึ่งความหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยปลายปีก็ยังไม่ชัดเจน

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)กล่าวว่า ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันสูงจะกระทบการบริโภคในประเทศ ส่วนผลต่อเงินเฟ้อไทยน่าจะเฉลี่ยเกือบ 5% โดยจะสูงช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ตามราคาน้ำมัน แต่มีแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะย่อลงได้ หลังจากอุปทานน้ำมันตลาดโลกเพิ่ม และท่าทีของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.)

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ส่วนตัวเชื่อว่า ธปท.ยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเงินเฟ้อมาจากด้านอุปทาน ขณะที่การท่องเที่ยวชะลอลง จากนักท่องเที่ยวยุโรปและรัสเซีย ซึ่งผลกระทบต่อการบริโภคนั้น ภาครัฐน่าจะช่วยประคองกำลังซื้อในระยะสั้นได้ไม่ว่าจะอุดหนุนกองทุนน้ำมัน หรือ ลดค่าไฟ ค่าแก๊ส หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในระยะสั้น แต่ต้องช่วยให้ตรงจุด อย่าหว่านแห เพื่อไม่บิดเบือนกลไกตลาดเกินไป

 

ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า ตลาดการเงินและไอเอ็มเอฟเริ่มปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงเป็น 4.4% แต่ส่วนตัวมองบวก 2.5% ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีแนวโน้มกระทบซัพพลายเชนโลก ซึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่อาจหดตัวลง 1-2% จากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า ปีนี้จะเติบโตได้ถึง 4.5% แต่จะคงเหลือโต 2-2.5%

ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

“จีดีพีไทยปีนี้แม้จะขยายตัวเป็นบวก 2.5% ถือว่ายังขี้เหร่และฟื้นตัวช้า ถ้าเทียบกับเวียดนามหรือประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำคือ ต้องกระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐานและอีอีซี เหล่านี้ต้องโฟกัส เพราะในประเทศเรา คนยังตกงานเพิ่ม รากหญ้าและเอสเอ็มอียังลำบากรวมทั้งกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมา”ดร.สมชายกล่าว

 

สอดคล้องดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ถ้า สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อถึงกลางปีและมีการร่วมแซงชั่นเพื่อบล็อคไม่ซื้อสินค้ารัสเซียและรัสเซียตอบโต้ไม่ส่งออกพลังงานและหยุดทำการค้า อาจนำไปสู่วิกฤติพลังงาน วัตถุดิบไม่พอใช้ในการผลิต ทำให้กระทบต้นทุนทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจไทย อาจขยายตัวแค่ 1.3%

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

“เรามองกิจกรรมในไทยจะผ่อนคลายลง แม้จะมีคนติดเชื้อโอมิครอน แต่ห่วงผลกระทบจากภายนอก ถ้าสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่จบในไตรมาส 2 ปีนี้”ดร.สมประวิณกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,767 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2565