IMF ชี้วิกฤตยูเครนเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเอเชีย

24 มี.ค. 2565 | 18:30 น.

IMF ออกโรงเตือน วิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จะสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจเอเชียเพิ่มขึ้น โดยได้ซ้ำเติมผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการกู้ยืมทะยาน

นายรี ชาง-ยอง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก ของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศเตือน ว่า วิกฤตความขัดแย้ง ระหว่าง รัสเซีย และ ยูเครน ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับ เศรษฐกิจเอเชีย โดยได้ซ้ำเติมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงแนวโน้มด้านนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น

 

นายรีให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของทางการจีนว่า IMF กำลังประเมินผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน แต่ในขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด เนื่องจากสถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก นอกจากนี้ เขายังให้ความเห็นเกี่ยวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจของเอเชีย และระยะเวลาของความขัดแย้งครั้งนี้จะส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจเอเชียได้เป็นอย่างมาก

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลากหลายประเภทอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ไม่มากนัก ในขณะที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดียที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างมากอาจได้รับผลกระทบเชิงลบได้

ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างมากอาจได้รับผลกระทบเชิงลบได้

ทั้งนี้ นายรี ชาง-ยอง ซึ่งกำลังได้รับการเสนอชื่อจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้คนใหม่ ได้แนะนำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน เนื่องจากนโยบายดังกล่าวมักเป็นประโยชน์ต่อประชากรกลุ่มรายได้สูงที่บริโภคน้ำมันมาก โดยนายรีแสดงความเห็นว่า รัฐบาลต่าง ๆ ควรปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ซึ่งต้องเผชิญปัญหาราคาอาหารที่สูงขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้

 

นอกจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนแล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาดำเนินแผนการปรับนโยบายการเงินเพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติ ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคเหนี่ยวรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เหนี่ยวรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นายรียังให้ความเห็นด้วยว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะก่อให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเอเชียและทำให้ต้นทุนการกู้ยืมในเอเชียพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งทำให้ปัญหาหนี้ในเอเชียรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน หนี้ของภูมิภาคเอเชียนั้นมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ ๆ 40% ของปริมาณหนี้รวมทั่วโลกแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยมีสัดส่วนเพียง 25% เมื่อปี 2007(พ.ศ.2550)  

 

เห็นได้ว่าปัญหาหนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็จะส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นก็อาจจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว”  

 

ในวันเดียวกัน ธนาคารบาร์เคลย์ส ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือ 3.3% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.4% พร้อมย้ำว่า โลกไม่น่าจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้มีการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ตาม

 

ขณะเดียวกันบาร์เคลย์สได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกเป็น 5.6% จากเดิม 3.2% พร้อมระบุว่า ผลกระทบหลักของสงครามคือผลกระทบด้านอุปทานพลังงานและอาหาร

 

"ราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อค่าแรงที่แท้จริง และทำให้การบริโภคลดลง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เผชิญกับความยากลำบากในการจัดการกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ" บาร์เคลย์สระบุ

 

การที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดีดตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันทะยานขึ้นกว่า 139 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าสต็อกวัตถุดิบอาหารพื้นฐานจะลดลง รวมถึงการขาดแคลนปุ๋ยสำหรับภาคเกษตรกรรม

 

ภาวะที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐและจีนไม่มากนัก แต่ภูมิภาคยุโรปจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

 

ทั้งนี้ รายงานของบาร์เคลย์สสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของ IMF ซึ่งได้ออกมาเตือนว่า วิกฤตในยูเครนอาจทำให้มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในเดือนม.ค.ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสงครามในยูเครนนั้น IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.4% ในปีนี้