กยศ. เดินหน้า “แก้หนี้-ปลดล็อคผู้ค้ำประกัน”

25 ก.พ. 2565 | 08:01 น.

กยศ. เดินหน้าผลักดันกฎหมาย แก้หนี้-ปลดล็อคผู้ค้ำประกัน หวังช่วยลูกหนี้ไม่ต้องถูกฟ้องร้องบังคับคดี ย้ำให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาดข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย พร้อมยึดหลัก “เมื่อเป็นหนี้ ต้องมาใช้หนี้”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาหนี้ กยศ. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มขอบเขตในการบริหาร รวมถึงให้อำนาจกองทุนฯ เข้าไปช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี หรือศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี ให้สามารถเข้าร่วมการแก้ไขหนี้ แปลงหนี้ เพื่อกลับมาผ่อนชำระได้อีกครั้ง ซึ่งล่าสุดกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านสภาวาระ 1 แล้ว

“ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กยศ. ไม่ได้ฟ้องลูกหนี้เลย เพราะต้องการช่วยเหลือลูกหนี้ในภาวะวิกฤต และยกเว้นคดีที่ใกล้หมดอายุความ กยศ. จำเป็นต้องฟ้องร้อง แต่ในระหว่างการฟ้องร้องลูกหนี้ก็สามารถมาไกล่เกลี่ยการผ่อนชำระหนี้ได้ อยากให้ยึดหลักว่า เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องมาใช้หนี้ และหนี้ กยศ. นั้น เมื่อมาใช้หนี้แล้ว ก็สามารถนำกลับไปปล่อยให้กู้ยืมทางการศึกษาในรุ่นต่อไปได้”

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัด ก.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ กยศ.

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ระหว่างรอแก้กฎหมายฉบับดังกล่าว สำหรับลูกหนี้ หรือ ผู้ค้ำประกันที่ถูกฟ้องคดี จะให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้เลย ขณะเดียวกันกฎหมายดังกล่าวยังเปิดทางให้ลูกหนี้ที่ทำการผ่อนชำระหนี้ได้ในระยะหนึ่งสามารถปลดล็อคผู้ค้ำประกันได้ โดยไม่ต้องจนชำระหนี้ครบ

 

“ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ ผู้ค้ำประกันก็จะสบายใจได้ว่าไม่มีการไปฟ้องร้องยึดทรัพย์ เพราะว่าจะไม่มีการค้ำประกัน แต่จะมีเงื่อนไขที่ผู้กู้ต้องชำระหนี้ด้วยตัวเอง ส่วนผู้ค้ำประกันที่ผ่านมาหากมีปัญหาก็ให้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยกับ กยศ.”

 

ทั้งนี้ปัจจุบัน กยศ. มีลูกหนี้ประมาณ 6 แสนราย โดยมีสัดส่วนหนี้เสียประมาณ 40% อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กยศ. ยังได้ลดเบี้ยปรับสำหรับผู้ผิดนัดชำระลงจาก 7.5% ต่อปี เหลือ 0.5% ต่อปี และคิดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 1% ต่อปี นอกจากนี้ยังลดค่าปรับลง 80% ให้กับผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่มีการกลับมาเจรจาเพื่อขอชำระหนี้อีกครั้ง ขณะที่ผู้มีประวัติชำระหนี้ดี ยังลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0.01% ต่อปีด้วย