ประชุม กนง. 9 ก.พ. คาดยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5%

07 ก.พ. 2565 | 21:16 น.

ประชุม กนง. 9 ก.พ. คาดยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5% แต่เผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อและทิศทางมาตรการทางการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 ก.พ. นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

 

          เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโอมิครอนในระดับหนึ่ง แต่คาดว่าผลกระทบจะมีจำกัดและน้อยกว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบางและคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิด-19

 

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโอมิครอนเริ่มทรงตัวและคาดว่าจะสิ้นสุดลงได้ในไตรมาส 1/2565 ส่งผลให้ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม อาทิ ปรับลดระดับพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาด และนำมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go กลับมาใช้ ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาฟื้นตัว

 

ดังนั้น คาดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนจะมีจำกัดและน้อยกว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางท่ามกลางตลาดแรงงานและกำลังซื้อของประชาชนที่ยังคงอ่อนแรงเนื่องจากได้รับผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาด ขณะที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะยังไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิด-19 ได้ภายในปีนี้ ดังนั้น มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังที่ต่อเนื่องจึงยังมีความจำเป็นที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังกำลังซื้อของผู้บริโภคและอาจเป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาอาหารสดและพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเนื้อหมูในเดือนม.ค. ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% YoY ในขณะที่ ราคาอาหารสดอื่นๆ เช่น ไก่ ไข่ไก่ และกุ้งก็ปรับสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ อาหารสดมีสัดส่วนราว 20% ของตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งราคาอาหารสดที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อโดยรวมพุ่งสูงขึ้นและกระทบต่อไปยังกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน แก๊สหุงต้ม และค่าไฟฟ้า จะยิ่งส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่ตึงตัวเป็นหลัก ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างตรงจุดเท่าใดนัก

 

อีกทั้งจะยิ่งไปบั่นทอนการบริโภคและการลงทุนไปมากกว่าเดิม ดังนั้น คาดว่ากนง. คงจะยังไม่พิจารณาเลือกใช้นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อตามทิศทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางอังกฤษ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ

 

นอกจากนี้ กนง. คงจะมีมุมมองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้ในระยะข้างหน้า หากปัญหาในฝั่งอุปทานนั้นคลี่คลายลง ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้น แต่กนง. น่าจะยังคงคาดการณ์ว่าระดับเงินเฟ้อของไทยในปีนี้น่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของกนง. ที่ 1-3%  

          อย่างไรก็ดี กนง. อาจเผชิญความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า หากเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นและธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ ซึ่งอาจส่งให้ค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันให้อยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ ซึ่งจากผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 25-26 ม.ค. ที่ผ่านมา เฟดส่งสัญญาณแข็งกร้าว (hawkish) มากขึ้น โดยอาจเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมี.ค. ที่จะถึงนี้

 

ขณะที่ตลาดมองสิ้นปีดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25-1.50% ซึ่งหากเฟดยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้ออย่างมากและมีความจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย และกดดันค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ ทำให้กนง. ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเลือกที่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการเงินผ่านอัตราแลกเปลี่ยน

 

โดยหากกนง. พิจารณาคงดอกเบี้ยในระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะยิ่งไปเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นผ่านทางต้นทุนสินค้านำเข้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในทางตรงกันข้าม หากกนง. พิจารณาปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสม แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งไปกดดันอุปสงค์และการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้