“โควิด-19” หนุน ธ.ออมสิน ปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 64 พุ่ง 5.9 แสนล้าน

07 ก.พ. 2565 | 07:46 น.

ออมสิน ช่วยคนไทยฝ่าวิกฤตโควิด เผยปี 64 ปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 5.9 แสนล้านบาท โชว์คุมหนี้เสียให้อยู่ในระดับต่ำ 2.5% และนำส่งรายได้แผ่นดินกว่า 1.6 หมื่นล้าน สูงสุดอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2564 โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564  ธนาคารมียอดสินทรัพย์รวม 3,045,000 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ มียอดเงินฝากรวม 2,576,934 ล้านบาท ยอดสินเชื่อรวม 2,270,281 ล้านบาท โดยเป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 590,000 ล้านบาท และระดับความแข็งแกร่งพิจารณาจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 16.06%

 

นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ให้อยู่ในระดับต่ำ 2.5% ของสินเชื่อรวม และมีเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากหนี้เสีย รวม 93,000   ล้านบาท สูงที่สุดในรอบหลายปี คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPLs (Coverage Ratio) สะท้อนความมั่นคงมีเสถียรภาพของธนาคารที่ระดับ 165.09%

ทั้งนี้ ธนาคารได้ดำเนินโครงการลดต้นทุนการดำเนินงาน (Cost Reduction Program) สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี และทำกำไรได้ในระดับที่เหมาะสม รวม 25,260 ล้านบาท โดยธนาคารได้จัดสรรกำไรสำหรับทำภารกิจช่วยสังคมตามนโยบายรัฐ และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจำนวนกว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดนำส่งสูงสุดอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง

 

ทั้งนี้ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผู้มีรายได้น้อย ผ่านมาตรการและโครงการต่าง ๆ รวม 36 โครงการ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ถึง 11.6 ล้านคน โดยธนาคารประสบความสำเร็จในการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอป MyMo (Digital Lending) ให้ลูกค้าเป็นจำนวนกว่า 1.5 ล้านราย

 

ขณะเดียวกันในปี 64 ได้เข้าไปทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์/รถยนต์ สร้างแรงกดดันให้เกิดการลดโครงสร้างดอกเบี้ยทั้งตลาด ซึ่งสามารถปล่อยสินเชื่อรวม 12,000 ล้านบาท ช่วยผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรม

สำหรับปี 2565 ธนาคารเดินหน้าบทบาทธนาคารเพื่อสังคม ประกอบด้วย การสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนที่ต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง หรือขาดรายได้ด้วยเหตุโควิด-19 การจัดทำโครงการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อช่วยผู้ที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบ ด้วยโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม การยกระดับบริการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอป MyMo (Digital Lending) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูล Alternative Data Analytic

 

รวมถึงการขยายบทบาทส่งเสริมการออมโดยให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ตลอดจนการขับเคลื่อนองค์กรตามกรอบแนวคิด ESG และ BCG Model ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมผ่านการบริหารจัดการองค์กรในมิติต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความสมดุลของปัจจัยความสำเร็จ 3 P (People - Planet - Profit) อันนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระดับองค์กร สังคม และระดับประเทศ