“บัตรสวัสดิการฯ รอบใหม่” เปิดคุณสมบัติ ใครบ้างมีสิทธิลงทะเบียน

01 ก.พ. 2565 | 09:46 น.

คลัง เปิด 8 เกณฑ์คัดกรองเข้ม “บัตรสวัสดิการฯ รอบใหม่” เพิ่มคำนวณรายได้ครอบครัว วงเงินกู้ซื้อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้าน ซื้อรถไม่เกิน 1 ล้าน ย้ำต้องไม่มีบัตรเครดิต ก่อนคัดกรองรอบ 2 เช็คเพิ่ม ประวัติเดินทางต่างประเทศ - เล่นหุ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ ปี 2565 ในช่วงไตรมาส 3/65 หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัว ก่อนจะมีการประกาศผล และเริ่มใช้สิทธิผ่านบัตรประชาชนได้ภายในไตรมาส 4/65 โดยตั้งกรอบสมมติฐานประชาชนเข้ามาลงทะเบียน 20 ล้านคน และคาดว่าจะผ่านเกณฑ์การคัดกรอง 17 ล้านคน ในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประปี 2566 จำนวน 60,000 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ผู้มีบัตรสวัสดิการ ยังสามารถใช้สิทธิในบัตรดังกล่าวได้ จนกว่าจะมีการคัดกรองคุณสมบัติผู้ผ่านเกณฑ์การลงทะเบียนรอบใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการออกประกาศยกเลิกการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใบเดิมออกมาอีกครั้ง โดยการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรอบนี้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการรายเดิมจะต้องเข้ามาลงทะเบียนใหม่ด้วย เพราะต้องใช้เกณฑคัดกรองอันใหม่ นอกจากนี้จะมีการทบทวนรายได้ทุกๆ 1 ปี ซึ่งหากพบว่ารายได้เกินเกณฑ์จะถูกตัดสิทธิได้รับสวัสดิการทันที

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงทะเบียน ได้แก่  

1 ) มีสัญชาติไทย

 

2) มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

 

3) ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

 

4) รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมรายได้ของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)

 

5) ทรัพย์สินทางการเงินได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)

6) อสังหาริมทรัพย์ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

6.1) กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว

1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

                        1.1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

                          - บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

                         - ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

                        1.2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

 

2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

                         2.1 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

                         2.2 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่

6.2) กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว

1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

                          1.1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

                                       1.1.1) กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

                    กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

                                    1.1.2) กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

                    กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

             1.2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

              2.1) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

             2.2) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่

 

7) ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

 

8) ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ดังนี้

- วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

- วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่อายุเกิน 18 ปี ถือว่าเข้าเกณฑ์ที่จะลงทะเบียนได้ แต่เนื่องจากช่วงอายุดังกล่าวยังอยู่ในวัยกำลังศึกษา ดังนั้น เกณฑ์ในการคัดกรอง จะนำรายได้ของครอบครัวมารวมเพื่อคำนวณรายได้ หากรายได้รวมของครอบครัว หารเฉลี่ยแล้ว เกิน 100,000 บาท/คน/ปี จะถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิ

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดกรองเกณฑ์ในรอบแรกทั้ง 8 ข้อแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองขั้นที่ 2 คือ การตรวจประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งหากเป็นการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อประกอบอาชีพ ก็จะมีการพิจารณาจากการนำเงินกลับเข้าประเทศ ซึ่งหากเกินกว่า 100,000 บาทต่อปี ก็จะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิ

 

ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบทรัพย์สินทางการเงินแล้ว หากพบว่ามีบัญชีที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ก็จะมีการตรวจสอบมูลค่าหลักทรัพย์จากศูนย์หลักทรัพย์ฯ เพิ่มเติม หากพบว่ามีหลักทรัพย์มูลค่าเกิน 100,000 บาท ก็จะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิ

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ