อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "ทรงตัว"ที่ระดับ  32.98 บาท/ดอลลาร์

24 ม.ค. 2565 | 00:37 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มแกว่งตัว Sideways อาจผันผวนในช่วงก่อนการประชุมเฟดตามทิศทางของเงินดอลลาร์ แนะจับตาสถานการณ์การระบาดโอมิครอนในประเทศ รวมถึงแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.98 บาทต่อดอลลาร์ "ทรงตัว" กระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า 
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนระบุว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยเงินบาทอาจผันผวนในช่วงก่อนการประชุมเฟดตามทิศทางของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ต้องจับตาสถานการณ์การระบาดโอมิครอนในประเทศ รวมถึงแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ ซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นนี้  
 

นอกจากนี้ หากราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,830-1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญ ก็อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำจะสามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
 

อนึ่ง เราเริ่มเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออกในช่วง 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเป็นแนวต้านในระยะนี้ ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในโซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้าอาจรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว 

 

ส่วนเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงก่อนการประชุมเฟด หากตลาดยังคงผันผวนสูงซึ่งจะหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทั้งนี้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงหลังการประชุมเฟดได้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดคาดหรือลดงบดุลได้เร็ว 
 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.80-33.20 บาท/ดอลลาร์
 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาท/ดอลลาร์
 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าที่คาด หากเฟดกังวลปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯ 
 

สำหรับสัปดาห์นี้ ติดตามผลการประชุมของเฟด ซึ่งคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณชัดเจนถึงการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ต้องจับตาท่าทีของเฟดต่อปัญหาเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ : เราคาดว่า เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปอย่างชัดเจน โดยเฟดอาจระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจชะลอลงบ้างจากปัญหาการระบาดของโอมิครอน นอกจากนี้ เฟดอาจระบุว่า อัตราเงินเฟ้อได้เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้ ทำให้เฟดมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปมีความเหมาะสม
 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดได้รับรู้การขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว แต่ตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกได้มากกว่า 25bps รวมถึง ตลาดยังไม่มั่นใจว่า เฟดจะเริ่มดำเนินการลดงบดุลเมื่อไหร่และการลดงบดุลจะใช้วิธีการใด ในอัตราเท่าไหร่ต่อเดือน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะจับตาการแถลงของประธานเฟดอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยและประเด็นการลดงบดุลของเฟดอย่างไร
 

ทั้งนี้ เราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินของเฟดอาจส่งผลให้ตลาดการเงินยังคงผันผวนและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงในช่วงก่อนการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจช่วยพยุง sentiment ของผู้เล่นในตลาดได้ หากผลประกอบการยังคงขยายตัวต่อเนื่องและออกมาดีกว่าคาด ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดประเมินว่า ผลกระทบของการระบาดโอมิครอนในเดือนมกราคมจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการชะลอลง ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (Markit Manufacturing & Services PMIs) ที่จะลดลงสู่ระดับ 56.7 จุด และ 55.5 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
 

ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไป PCE ของสหรัฐฯในเดือนธันวาคมมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 5.8% ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่อาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ทำให้เฟดเริ่มส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
 

ฝั่งยุโรป : แม้ว่าการระบาดของโอมิครอนในยุโรปอาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะเห็นได้จากปรับตัวลดลงของดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการในเดือนมกราคม สู่ระดับ 57.5 จุด และ 52.2 จุด ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในมุมมองของภาคธุรกิจอาจเริ่มมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและสภาวะธุรกิจ หลังสถานการณ์การระบาดในยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี อาจเข้าใกล้จุดเลวร้ายสุด มุมมองดังกล่าวอาจสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Ifo Business Climate) ของเยอรมนี ในเดือนมกราคม ที่อาจทรงตัวที่ระดับ 94.7 จุด
 

ฝั่งเอเชีย : ตลาดประเมินว่า การระบาดของโอมิครอนในช่วงต้นปีจะกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอลง โดยในฝั่งญี่ปุ่น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมอาจขยายตัวในอัตราชะลอลง จากปัญหาการระบาดของโอมิครอนที่ส่งผลกระทบต่อชั่วโมงการทำงานและปัญหาด้าน Supply Chain สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงสู่ระดับ 53 จุด
 

ขณะเดียวกัน การยกระดับมาตรการควบคุมและยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจะกดดันการฟื้นตัวของภาคการบริการเช่นกัน ชี้จากดัชนี PMI ภาคการบริการที่อาจลดลงสู่ระดับ 51.5 จุด ส่วนในฝั่งจีน ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการอาจพลิกกลับมาหดตัวจากปัญหาการระบาดของโอมิครอนในหลายพื้นที่และการบังคบใช้มาตการ Zero COVID ของทางการจีน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในจีนอาจลดลงสู่ระดับ 49.8 จุด อย่างไรก็ดี ทางการจีนได้เตรียมพร้อมรับมือภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ
 

ฝั่งไทย : เรามองว่าปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศยังมีความน่ากังวลอยู่ หลังยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แผนการทยอยเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมของรัฐบาลอาจสะดุดลงได้ ซึ่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดอาจยังทำให้เงินบาทแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติก็ยังไม่รีบเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยหรือเก็งกำไรค่าเงินบาท

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ หลังเวลา 9.00น.อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 32.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงบางส่วน (หลังจากทยอยแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนตามจังหวะสัญญาณเงินทุนไหลเข้า) ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงประคองในช่วงก่อนการประชุมเฟด เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามว่า ในสัปดาห์นี้ เฟดจะส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างไร ทั้งในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. และการบริหารจัดการระดับงบดุลซึ่งอาจเกิดขึ้นในปีนี้  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.85-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และดัชนี PMI ขั้นต้นเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ อียูและอังกฤษ