อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.05 บาท/ดอลลาร์

18 ม.ค. 2565 | 00:46 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยขายทำกำไรฝั่งหุ้น เก็งกำไรเงินบาท ทำให้ฟันด์โฟลว์อาจชะลอการไหลเข้าและเริ่มมีทิศทางไหลออกบ้าง

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้  ที่ระดับ  33.05 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.085 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วในวันก่อนหน้าจากความหวังการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเราประเมินว่า อาจเร็วเกินไปที่จะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในประเทศอาจเลวร้ายกว่าปัจจุบันได้ หากรัฐบาลไม่สามารถรับมือการระบาดได้ดีหรือการแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้นเริ่มติดขัด

 

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มทยอยขายทำกำไรฝั่งหุ้น รวมถึงบางส่วนก็อาจรอทยอยขายทำกำไรการเก็งกำไรเงินบาท ทำให้ในฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอการไหลเข้าและเริ่มมีทิศทางไหลออกได้บ้าง และที่สำคัญ การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาไม่นาน อาจเพิ่มโอกาสให้ธนาคารแหงประเทศไทยเข้ามาดูแล ลดความผันผวนของเงินบาทลง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทยอยปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม ทำให้เรามองว่า เงินบาทยังมีทิศทางแกว่งตัว Sideways โดยแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้ 

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.95-33.15 บาท/ดอลลาร์

 

แม้ว่าตลาดการเงินอาจไม่ได้คึกคักมากนัก เนื่องจากวันก่อนหน้าเป็นวันหยุดของฝั่งสหรัฐฯ แต่ทว่าผู้เล่นในตลาดก็เริ่มมีแนวโน้มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังตลาดรับรู้แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดไปแล้วพอสมควร ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกลับมาสนใจรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น ซึ่งหากผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนออกมาดีกว่าคาดก็จะสามารถช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้อีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นได้ราว +0.70% นอกจากนี้ โดยรวมแล้ว ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนสงบลง Kering +2.4%, SAP +1.7%. Louis Vuitton +1.6%

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ 10 ปี ทั่วโลก ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง หากตลาดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งต้องติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ คือ แนวโน้มการปรับลดงบดุลของเฟด ซึ่งต้องติดตามการส่งสัญญาณของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดว่า เฟดพร้อมจะลดงบดุลได้เมื่อไหร่ รวมถึงอัตราการลดงบดุลจะอยู่ในระดับประมาณไหน มากกว่า หรือ เท่ากับ อัตราการลดงบดุลในอดีตที่ผ่านมา โดยเรามองว่า หากเฟดส่งสัญญาณพร้อมลดงบดุลได้เร็ว ในอัตราที่สูงกว่าในอดีต อาทิ ลดงบดุลลงเดือนละ 1 แสนล้านดอลลาร์ ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์สามารถปรับตัวขึ้นได้บ้าง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 95.25 จุด โดยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั้นได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่ย่อตัวลงแตะระดับ 1.14 ดอลลาร์ต่อยูโร รวมถึง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงแตะระดับ 114.5 เยนต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เรามองว่า BOJ ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% และคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไว้ที่ระดับ 0.00% ซึ่งต้องจับตาท่าทีของ BOJ ต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ล่าสุด เพราะหาก BOJ กังวลต่อประเด็นดังกล่าว อาจสะท้อนว่า BOJ พร้อมเพิ่มการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกดดันให้ยีลด์ย่อตัวลง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงได้

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า การระบาดของโอมิครอนในเยอรมันที่เริ่มเข้าใกล้จุดเลวร้ายสุด อาจสร้างความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หากสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนมกราคม ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 31 จุด จากระดับ 29.9 ในเดือนก่อนหน้า

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากผลกำไรยังสามารถขยายตัวได้ดีและออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ก็จะสามารถช่วยหนุนให้ตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้