อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ “แข็งค่า”ที่ระดับ 33.26บาท/ดอลลาร์

13 ม.ค. 2565 | 01:06 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท แรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงเป็นปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มองกรอบการเคลื่อนไหววันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.26 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.37 บาทต่อดอลลาร์

 นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แม้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น แต่จะไม่แข็งค่าไปมากนัก เพราะถึงแม้ว่า เงินบาทจะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ แต่ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงเป็นปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ การแข็งค่าขึ้นจนหลุดระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์นั้น ต้องอาศัยฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติพอสมควร อีกทั้ง ช่วง 2 วันที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นว่า โฟลว์ซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดลง ซึ่งอาจสะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่ยังไม่รีบเข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาท และผู้เล่นต่างชาติบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า เพื่อเพิ่มสถานะการถือครอง ขณะที่หากเงินบาทแข็งค่าถึงระดับเป้าราคาที่ต้องการ ก็อาจเห็นการทยอยขายทำกำไรของผู้เล่นต่างชาติได้

 

นอกจากนี้ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้ 

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดการเงินเดินหน้าทยอยเปิดรับความเสี่ยงต่อ หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.0% ตามคาด และยิ่งหนุนให้เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปแล้วพอสมควร

 

ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดจึงไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อแต่อย่างใด นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของว่าที่รองประธานเฟด Lael Brainard และเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ ยังคงออกมาสอดคล้องกับประธานเฟดที่ได้ระบุก่อนหน้าว่า เฟดพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

 

การทยอยเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดจะเห็นได้ชัดจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นสไตล์ Growth ที่ย่อตัวลงหนักในช่วงที่ผ่านมา หนุนให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.28% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.23%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้นเกือบ +0.8%  นำโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ ASML +3.1%,  Adyen +1.4% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical

 

อาทิ กลุ่มพลังงานและกลุ่มการเงิน Total Energies +3.1%, Intesa Sanpaolo +2.6% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มประเมินว่า ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในยุโรปอาจใกล้ถึงจุดเลวร้ายสุดและเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังไม่มีการปรับสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวที่ชัดเจน หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ ล่าสุดยังคงย้ำโอกาสที่เฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในเดือนมีนาคม ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวที่ระดับ 1.75%

 

ทั้งนี้ เรามองว่า ปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์จะเกิดขึ้นได้ หากตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หรือ เฟดมีการสื่อสารถึงการลดงบดุลที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอาจเป็นการลดงบดุลในอัตราที่สูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเราคาดว่า แนวโน้มดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลก ทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงมาใกล้ระดับ 94.92 จุด กดดันโดยภาวะตลาดเปิดรับความเสี่ยงและรายงานเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ออกมาผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้

 

และไม่ได้ส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ได้ประเมินว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ราว 3-4 ครั้ง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้หนุนให้สกุลเงินหลักต่างแข็งค่าขึ้น อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.144 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.37 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ซึ่งทั้งสองสกุลเงินยังได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนใกล้ถึงจุดเลวร้ายที่สุด

 

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ทรงตัว ณ ระดับเดิมต่อ ได้หนุนให้ ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 1,825 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเข้ามาทยอยขายทำกำไรได้ ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำดังกล่าวจะสามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Thomas Barkin, Patrick Harker, Charles Evans และที่สำคัญตลาดจะจับตาการแถลงต่อคณะกรรมาธิการ Senate Banking ในกระบวนการสรรหาประธานและรองประธานเฟด (Confirmation Hearing) ของว่าที่รองประธานเฟด Lael Brainard ว่าจะมีมุมมองต่อภาวะตลาดแรงงานและเงินเฟ้ออย่างไร รวมถึงมุมมองต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเฟดในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ

 

ส่วนในฝั่งไทย เราคงมองว่า ผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่จะไม่กดดันให้เศรษฐกิจซบเซาหนัก เนื่องจากรัฐบาลจะพยายามเลี่ยงการใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด โดยอาศัยการเร่งแจกจ่ายวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุข อย่างไรก็ดี แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจไม่มากนัก แต่การระบาดของโอมิครอนอาจกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในระยะสั้นได้ ซึ่งอาจสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมที่อาจย่อตัวลงเล็กน้อยและอาจปรับตัวลดลงมากขึ้น จนกว่าสถานการณ์การระบาดจะมีแนวโน้มดีขึ้น

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.27-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.45 น.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายหลังจากที่ข้อมูล CPI เดือน ธ.ค. 2564 ของสหรัฐฯ ออกมาใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ของตลาด โดยเพิ่มขึ้นแตะ 7% YoY สูงสุดในรอบ 39 ปีครึ่ง ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า แม้เฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเข้มนโยบายการเงินในปีนี้ แต่ก็จะสอดคล้องกับที่เคยให้สัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่  33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ