อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.25 บาท/ดอลลาร์

05 ม.ค. 2565 | 00:57 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่แกว่งตัว Sideways ในกรอบเดิมต่อ โดยปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผันผวนในฝั่งอ่อนค่า

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.25 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.315 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มที่แกว่งตัว Sideways ในกรอบเดิมต่อ โดยปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทสามารถผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ แต่เราเชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลสถานการณ์การระบาดมากนัก ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าซื้อหุ้นไทยสุทธิต่อเนื่อง นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำมากขึ้น อีกทั้ง เงินดอลลาร์โดยรวมก็ทรงตัวตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด

 

ทั้งนี้ แนวรับสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผู้นำเข้าบางส่วนรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอขายเงินดอลลาร์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.35 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลาง มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายกังวลปัญหาการระบาดของโอมิครอน ส่งผลให้หุ้นในกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะหุ้นในธีม Reopening ปรับตัวขึ้นได้ดี อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจากบรรดาธนาคารกลางหลัก ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ ต่างปรับตัวสูงขึ้น กดดันหุ้นในกลุ่มเทคฯ ย่อตัวลง (หุ้นเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ที่มี valuation แพง มักจะอ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์) ดังจะเห็นได้จากในฝั่งสหรัฐฯ ที่ดัชนี Dowjones ปรับตัวขึ้นกว่า +0.59% ในขณะที่ ดัชนี S&P 500 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.06% ส่วน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -1.33% สะท้อนภาพการเปลี่ยนกลุ่มหุ้นของผู้เล่นในตลาด (Sector & Style rotation) ที่ชัดเจนมากขึ้น

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้น ท่ามกลางความหวังเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น หากสถานกาณ์การระบาดคลี่คลายส่ง ซึ่งส่งผลให้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical หรือ ธีม Reopening ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ Daimler +5.0%, BNP Paribas +3.4%, BMW +3.1% ในขณะที่ หุ้นกลุ่มเทคฯ เผชิญแรงเทขายทำกำไร  Adyen -3.6%, ASML -2.9%, Infineon Tech. -2.2%

 

ทั้งนี้ เราคงมองว่า หุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Reopening เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด อีกทั้งสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนก็มีแนวโน้มที่จะใกล้ถึงจุดเลวร้ายสุดภายใน 1 เดือนข้างหน้า และรัฐบาลก็จะสามารถควบคุมการระบาดได้ในที่สุด ตามการเร่งแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงการใช้ยาต้าน COVID-19 

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะผู้เล่นในตลาดเปิดรับความเสี่ยงและมุมมองของผู้เล่นที่คาดว่าธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด รวมถึง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.65% เช่นเดียวกับ บอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ ที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.10% ในระยะสั้นนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ 10 ปี ในฝั่งยุโรป ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจและท่าทีของเฟดที่จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันเงินดอลลาร์อยู่ ในขณะที่ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่เชื่อว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทั้งนี้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ทรงตัวที่ระดับ 96.26 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะทรงตัว แต่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงแตะระดับ 116.17 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าในรอบหลายปี

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมเฟดล่าสุด เพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วกว่าคาด หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องและอาจกลับสู่ระดับที่เฟดพึงพอใจได้เร็วกว่าคาด

 

ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า การทยอยฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ รวมถึงระดับราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูง จะช่วยหนุนให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนธันวาคม ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 2.8% ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากระดับฐานราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า และภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในช่วงเช้าวันนี้  เงินบาทแข็งค่าเข้าใกล้แนว 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 33.17-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนทิศทางของสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินเอเชียในภาพรวมท่ามกลางการผ่อนคลายความกังวลต่อปัญหาการระบาดของโควิดสายพันธุ์ โอมิครอน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่  33.10-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19  ตลอดจนตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ดัชนี PMI ภาคบริการ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม 2564