เปิด 5 ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี 65

15 ธ.ค. 2564 | 12:09 น.

มาสเตอร์การ์ดเผยผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจปี65 พบ 5 ปัจจัย "การออมและการใช้จ่าย ซัพพลายเชน มีระบบดิจิทัลเป็นตัวเร่ง การเดินทางท่องเที่ยว และความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง" ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี65

สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์ของมาสเตอร์การ์ดเปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 จะถูกกำหนดโดยการปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัล “Digital Resilience”และการสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจผู้บริโภค “Experience Economy” ซึ่งจะแตกต่างจากการให้บริการ และการขายสินค้าโดยทั่วไป แต่เป็นการสร้างความประทับใจ และสร้างความคุ้มค่า เกินความคาดหมายในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ 

 

การเปลี่ยนแปลงในการออมของครัวเรือน การเติบโตทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพื่อซื้อหา‘สิ่งของ’หรือ ‘ประสบการณ์’ใหม่ๆอยู่เสมอ และธุรกิจต่างๆ ยังคงเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัล เผยให้เห็นปัจจัยพื้นฐาน 5 ปัจจัย จะเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจของโลกคือ การออมและการใช้จ่าย ซัพพลายเชน การมีระบบดิจิทัลเป็นตัวเร่ง การเดินทางท่องเที่ยว และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ทั้ง 5 ประการจะยังคงเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจของโลก คือ 

 

1.การเดินทาง: การเดินทางท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากเปิดให้เดินทางข้ามประเทศได้ด้วยเที่ยวบินในเส้นทางระยะกลางและเส้นทางไกลซึ่งจะเพิ่มขึ้นในปี 2565 ในขณะที่ข้อจำกัดในการเดินทางได้ส่งผลให้การฟื้นตัวทั่วทั้งภูมิภาคเป็นไปอย่างช้าๆ ในปี 2564 โดยมีตลาดเพียงไม่กี่แห่งในเอเชียแปซิฟิกที่มีการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกลับมาถึงเกือบ 69 เปอร์เซ็นต์ของช่วงก่อนการแพร่ระบาด จึงเป็นที่คาดว่า การท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มที่สดใสทั่วภูมิภาคในปี 2565 

2.การออมและการใช้จ่าย: การออมในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วในเอเชียแปซิฟิกเป็นกำลังสำคัญของการบริโภคในปี 2565 และปีต่อๆไป การได้เห็นผู้คนกลับมาใช้จ่ายเงินที่ออมไว้เร็วขึ้นอาจหมายถึงการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในตลาดหลายแห่ง รวมถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่นและเกาหลีในอัตราราวๆ 2% ในปี 2565  การใช้จ่ายเงินออมของผู้บริโภคทั่วโลกจะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของจีดีพีของโลกในปี 2565 เมื่อข้อจำกัดเกี่ยวกับการแพร่ระบาดเริ่มผ่อนคลายลง

 

3.ระบบดิจิทัล:  20%ของธุรกิจค้าปลีกจะยังคงเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลและเป็นตัวกำหนดวิธีการจับจ่ายและสิ่งที่ผู้บริโภคซื้อหา เราได้เห็นการสมัครสมาชิกกับอีคอมเมิร์ซต่างๆ เพิ่มขึ้นในปี 2564 ในเกือบ 88% ของประเทศใน 32 ตลาดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว – โดยเฉลี่ยแล้ว สัดส่วนการสมัครสมาชิกกับการใช้จ่ายทั้งหมดเพิ่มขึ้น 1.25 เท่า จากปี 2563 ถึง 2564 ใน 6 ตลาดในเอเชียแปซิฟิก ธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์จากโมเด็ลนี้ได้แก่ บริษัทรถยนต์ บริการเพื่อนออกกำลังกายออนไลน์ การเช่าจักรยาน และบริการสัตว์เลี้ยง

 

4.ซัพพลายเชน: มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2565 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพื่อซื้อหาบริการต่างๆ ในเอเชียจะเพิ่มขึ้น  ในขณะที่ความต้องการสินค้ายังคงอยู่ต่อไป ในขณะที่ปัญหาซัพพลายเชนจะยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงขึ้นต่อไปและราคาสินค้าทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น การส่งออกก็จะยังคงเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในภูมิภาค 

 

5.ความเสี่ยง: ความเสี่ยงต่างๆ ยังคงมีศักยภาพที่จะสร้างปัญหาแก่เศรษฐกิจโลก โควิดสายพันธุ์ใหม่ เช่น   โอมิครอนเป็นความเสี่ยงสูงสุดในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ที่สามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็น การปรับราคาที่อยู่อาศัย ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และสถานการณ์การคลังหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดลงในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

 

นายเดวิด แมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ มาสเตอร์การ์ด เอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลางกล่าวว่า แม้ว่าปีที่ผ่านมา จะมีแต่ความไม่แน่นอน แต่เราก็ยังคงมองโลกในแง่ดีสำหรับปีข้างหน้า และมีความคาดหวังว่าปี 2565 จะเป็นปีแห่งการฟื้นต้วด้านการท่องเที่ยวในเอเชีย แม้ว่าการฟื้นตัวทั่วภูมิภาคจะไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่เราคาดว่า ความต้องการจับจ่ายและการนำเงินออมของมาใช้ของผู้บริโภคจะเพิ่มมากชึ้น 

 

"เห็นได้จากการฟื้นตัวในกลุ่มสินค้าที่ฟื้นตัวได้ง่ายเช่น เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ความแข็งแกร่งที่ต่อเนื่องของอีคอมเมิร์ซ และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดเช่น การตกแต่งปรับปรุงบ้าน รวมไปถึงงานอดิเรกก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรูปแบบการเป็นสมาชิก ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นแนวโน้มเชิงบวก แม้จะยังคงมีความกังวลจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ เงินเฟ้อ และปัญหาซัพพลายเชนก็ตาม"นายเดวิดกล่าว