สศค. จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง เขย่าเศรษฐกิจปี 65

22 พ.ย. 2564 | 03:21 น.

สศค. จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทยปี 65 หวังจีนเปิดประเทศหนุนตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 1 ล้านคน เผยไม่ฟันธงลดมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เชื่อรัฐบาลมุ่งใช้เม็ดเงินอัดการจ้างงาน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.  เปิดเผยว่า ในปี 2565 สศค. ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 3.5% - 4%  ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้คาดการณ์ โดยมี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย คือ 1.การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดซ้ำ แม้หลายประเทศรวมทั้งไทย จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว

 

2. ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หลังการส่งออกเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก

 

3.การขาดแคลนแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคการก่อสร้าง หลังก่อนหน้านี้แรงงานได้เดินทางกลับประเทศ และยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้เต็มจำนวนเหมือนก่อนเกิดโควิด

 

4. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน และขยายตัวไม่เท่ากัน  ทั้งราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด  ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยนี้ มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย

 

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำหรับปัจจัยหนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 65 นายพรชัย กล่าวว่า มาจากการที่ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากหลายๆ ประเทศรวมทั้งไทยมีการเปิดประเทศมากขึ้น ซึ่ง สศค. คาดว่าในปี 65 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยประมาณ 6 - 7 ล้านคน

 

โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งถือเป็นมุมมองเชิงบวกกรณีประเทศจีนมีการเปิดประเทศ ให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 65 แต่หากจีนยังคงมาตรการปิดประเทศตลอดทั้งปี 65 ก็คาดว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยทั้งปีจะลดลงเหลือ 6.3 ล้านคน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 5% และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่คาดว่าขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่หนุนต่อการส่งออกของไทย

 

ขณะที่ปัจจัยหนุนจากดีมานต์ในประเทศ คือ เม็ดเงินจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.7 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 อีก 2.5 แสนล้านบาท

 

ส่วนมาตรการกระตุ้นการบรโภคภายในประเทศนั้น นายพรชัย กล่าวว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคใดออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าหลังจากหมดมาตรการกระตุ้นการบริโภคในปลายปี 64 นี้แล้ว รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การจ้างงานมากขึ้น ผ่านการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งเมื่อคนในประเทศมีงานทำ ก็จะส่งผลดีต่อรายได้และการบริโภคภายในประเทศตามมา