กอนช. เตรียมรับมือน้ำท่วม คาดภาคใต้ฝนเพิ่ม ตั้งแต่ 23 พ.ย.นี้

22 พ.ย. 2564 | 13:14 น.

กอนช. ติดตามน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมกำหนดเกณฑ์วิกฤต 2 ระดับรับมือ คาด 23 พ.ย. นี้ ภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น และเจอฝนหนักอีกระลอกระหว่าง 28 พ.ย. – ต้นเดือน ธ.ค. 64

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้ ครั้งที่ 1/2564 และผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ได้คาดการณ์ช่วงวันที่ 23 พ.ย. 64 เป็นต้นไป บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นพร้อมกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง

 

ส่งผลให้ภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

และจะมีฝนหนักอีกระลอกในช่วงระหว่างวันที่ 28 พ.ย. – ต้นเดือน ธ.ค. 64 ซึ่งจะมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเร่งระบายน้ำท่วมขังและเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำหลาก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือและบรรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ผ่านการบูรณาการโดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ เพื่อร่วมกับทุกภาคส่วนบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ทั้งการติดตาม การเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ การวิเคราะห์ประเมิน การคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ การแจ้งเตือน การประสานงาน และการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่

“คณะทำงานศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ จะร่วมวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัย ส่งข้อมูลผ่านกลุ่มไลน์ Openchat ของศูนย์ฯ เพื่อประชุมวิเคราะห์สรุปรายงานสถานการณ์น้ำประจำวัน ในช่วงเวลา 09.30 น. หากกรณีวิกฤตระดับ 1 เมื่อมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง รวมทั้งในพื้นที่มีน้ำท่วมขังเดิมอยู่แล้วที่อาจส่งผลให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น จะเพิ่มการประชุมอีก 1 ช่วงคือ เวลา 17.00 น. และในกรณีวิกฤตระดับ 2 คือ กรณีมีพายุหรือหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง จะมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อชี้เป้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด” 

 

นอกจากนี้ จะมีการลงพื้นที่ติดตามประเมินพื้นที่เสี่ยงและติดตามพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วย และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อแจ้งไปยังอำเภอ ท้องถิ่น เครือข่าย และประชาชน พร้อมกระจายข้อมูลข่าวสารผ่านทางประชาสัมพันธ์จังหวัด สื่อโซเซียลมีเดีย กลุ่มไลน์ Openchat ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ ให้ข้อมูลข่าวสารสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง ลดผลกระทบต่อประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด