กอนช.เตรียมรับมือ มวลน้ำสูงสุด อุบลราชธานี 23 ต.ค.นี้

09 ต.ค. 2564 | 11:29 น.

“พลเอก ประวิตร” สั่งการ กอนช.ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซ้อมความพร้อมจัดการมวลน้ำ หลังประเมินจะไหลผ่านสะพานเสรีประชาธิปไตย M.7 วันที่ 23 ต.ค.ที่คาดว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นจากเดิมไม่เกิน 60 ซม. หากไม่มีฝนเพิ่มในพื้นที่คาดน้ำจะลดลงต่ำกว่าตลิ่งภายในสิ้นเดือนนี้

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยหลังการประชุมติดตามและกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ก่อนเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล อ.วารินชำราบ อ.เมือง และ อ.พิบูลมังสาหาร โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้เน้นย้ำและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่เร่งบริหารจัดการน้ำให้สถานการณ์กลับมาปกติโดยเร็ว รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย 

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)

จากสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล คาดว่ามวลน้ำสูงสุด จะไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 23 ตุลาคม 2564 โดยอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี 

จากการประชุมร่วมกันได้หารือถึงปัญหาอุปสรรค การเตรียมความพร้อมรับมือ การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล และการติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ตามที่มีการคาดการณ์ว่ามวลน้ำที่สูงสุดจากแม่น้ำชี ขณะนี้อยู่บริเวณจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมวลน้ำดังกล่าวจะถึงสถานี M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย โดยระดับน้ำขึ้นสูงสุดในวันที่ 23 ต.ค. และจะกลับมาต่ำกว่าตลิ่งอีกประมาณ 1 สัปดาห์ หรือในวันที่ 31 ต.ค. นี้

นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) มีนโยบายให้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ให้กับประชาชนที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมทุกพื้นที่ในขณะนี้ 

นายชยันต์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีการซักซ้อมแผนบริหารจัดการน้ำตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์แนวโน้มฝนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการมวลน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในลำน้ำชีที่มีอยู่ประมาณ 3,300 ล้าน ลบ.ม. และมวลน้ำมูลประมาณ 1,400 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว 100 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำมูลลงแม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง