“อาคม”ประกาศฉีดเม็ดเงิน 3.7 ล้านล้าน หนุนเศรษฐกิจปี65 โต 4%

15 พ.ย. 2564 | 07:36 น.

“อาคม” มั่นใจ ส่งออก และเม็ดเงินภาครัฐ 3.7 ล้านล้าน หนุนเศรษฐกิจปี65 โต 4% ยอมรับภาคท่องเที่ยวยังฟื้นไม่เต็มที่ เร่งกระจายเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค ชี้ปี65 ยังเสี่ยงโควิดกลับมาระบาดหลังเปิดประเทศ ห่วงกระทบต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงขึ้น วอนทุกฝ่านร่วมมือป้องกัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา ลงทุนอย่างไรให้รวย หัวข้อ “ทิศทางฟื้นเศรษฐกิจปี 2022” ที่จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจ ว่า ภายใต้ปัจจัยการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการทำภูเก็ตแซนบล็อก จนนำไปสู่การเปิดประเทศอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ประกอบกับการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจคู่ขนานการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในภาคประชาชน ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 จะขยายตัวที่ 1% และขยายตัวได้ 4% ในปี 65

 

“ภาคท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ จากนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน สร้างรายได้ให้ไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท แม้จะหายไปหมด แต่ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และหากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มีการเปิดให้คนไทยเดินทางข้ามจังหวัดได้ ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัดไปด้วย” นายอาคม กล่าว

“อาคม” อัดเม็ดเงิน 3.7 ล้านล้าน หนุน GDP ปี 65 โต 4%

 

นายอาคม กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 65  คือ 1. ภาคการส่งออก ที่เชื่อว่าไทยยังมีความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี หรือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสินค้าไทยอยู่ในซัพพลายเซนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก

 

2. เม็ดเงินของภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 3.7 ล้านล้านบาท ได้แก่ งบประมาณแผ่นดิน 3.1 ล้านล้าน งบฯ จาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะกู้ในปี 65 ประมาณ 3 แสนล้านบาท และงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินของรัฐบาลประมาณ 20% จะเป็นการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

3. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้ง รถไฟฟ้าใน กทม. รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง พลังงานทดแทน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งในปี 65 จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเทคโลโนยี 5จี นอกจากนี้โครงการที่รอการอนุมัติ จะเริ่มก่อสร้างมากขึ้นในปี 65

 

ทั้งนี้ นายอาคม กล่าวว่า ภาคเศรษฐกิจจริง มี 4 ภาค คือ 1. ภาคส่งออกที่ยังมั่นใจว่าจะขยายตัวได้ โดยได้อานิสงค์จากค่าบาท ซึ่งในปี 65 ยังเอื้ออำนวยกับการส่งออกของไทย

 

2.ภาคการลงทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะใน EEC มี 3 ส่วนที่อยากเห็น คือ (1) โครงสร้างพื้นฐานที่ขณะนี้ได้ผู้ชนะการประมูลครบแล้ว ทั้ง รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหล่มฉบัง ทั้งนี้ การก่อสร้างรันเวย์ในสนามบินอู่ตะเภา จะใช้เงินกู้ จากเดิมที่จะใช้เงินงบประมาณ ซึ่งจะทำให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีแหล่งเงินที่มีความต่อเนื่อง ทำให้มีหลักประกันในการให้เงินทุนตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง

 

(2) คือ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์  ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติต่างๆ สะท้อนจากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่มากขึ้นต่อเนื่อง และ (3) EEC ดิจิทัล และ EEC อินโนเวชั่น ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งที่กล่าวมานี้คือเครื่องยนต์ที่จะเป็น New Growth หรือ การเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจไทย

 

3. ภาคเศรษฐกิจจริงของภาคการเงิน วันนี้มีการปรับตัวแล้ว โดยเฉพาะการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี่ โทเคนดิจิทัล ต่างๆ ซึ่งขณะนี้มี กลต. เป็นผู้กำกับดูแล โดยเชื่อว่าในปี 65 จะมีผู้เล่นรายใหม่และรายใหญ่เข้ามามากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีผู้เข้ามาดูแลหรือเข้ามากำกับ เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปตามกติกา เป็นธรรม และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

และ 4. ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญ คือ SME และ สตาร์ทอัพ โดยในปี 65 จะมีการปรับตัวมากขึ้น จากการส่งเสริมของภาครัฐ และการตื่นตัวในการทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานในภาคบริการที่อาจเปลี่ยนสายอาชีพใหม่ หรือ เป็น SME เดิมและมีการพัฒนาธุรกิจ พร้อมย้ำสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน SME และสตาร์ทอัพ อย่างเข้มข้นมากขึ้น

 

“เศรษฐกิจทันสมัยที่ต้องเชื่อมโยงกับ SME มากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ปี 65 เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะแต่ในพื้นที่ EEC  แต่ต้องกระจายออกไปสู่ภูมิภาค หรือ เศรษฐกิจต่างจังหวัด โดยในปี 65 ยอมรับว่าการท่องเที่ยวจะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ผู้ที่เคยทำงานในภาคท่องเที่ยว อาจต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลและทำให้เกิดการกระจายของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง” นายอาคม กล่าว

 

นายอาคมยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จะเพิ่มเป็น 27% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า และในช่วงที่ไทยเผชิญโควิด-19 พบว่ากลุ่ม 608 คือ อายุเกิน 60 ปี และ 8 กลุ่มโรคเสี่ยง มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นเพื่อให้สามารถเผชิญกับความเสี่ยงหรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคตได้ การแพทย์ และสาธารณสุข จึงเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

 

“ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 65 ดังนั้นในช่วงที่เปิดประเทศแล้ว เศรษฐกิจจะเดินหน้าควบคู่กับมาตรการดูแลโควิด-19 ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ให้เกิดการระบาดอีกรอบ ไม่เช่นนั้นเราจะมีต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจที่มากขึ้นไปอีก ดังนั้นปี 65 ยังเป็นปีที่ต้องระวังการระบาดของโควิด-19” นายอาคม กล่าว