APEC FMM หนุนปฏิรูปเชิงโครงสร้าง รับมือการฟื้นตัวหลังโควิด-19

22 ต.ค. 2564 | 06:19 น.

ที่ประชุม APEC FMM หนุนดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และความร่วมมือพหุภาคี รับมือกับผลกระทบของโควิด-19 และก้าวไปสู่การฟื้นตัวอย่างสมดุล ครอบคลุมทุกมิติและทุกภาคส่วน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 28 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนาย Grant Robertson รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนิวซีแลนด์ เป็นประธาน พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กลุ่มธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย เป็นต้น และผู้แทนภาคเอกชนจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) เข้าร่วมการประชุม ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2564 คือ “Join, Work, Grow. Together.” โดยมีการหารือที่สำคัญดังนี้

 

1. IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 สำหรับภูมิภาคเอเปค ยังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายมิติ อาทิ ระดับการฟื้นตัวของแต่ละเขตเศรษฐกิจที่แตกต่างกันการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือในลักษณะที่แตกต่างกัน สภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น

 

2. ในการประชุม APEC FMM ครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือใน 2 ประเด็นหลัก (Priorities) ประกอบด้วย

2.1 การรับมือกับโควิด-19 เพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม (Responding to COVID-19 for a Sustainable and Inclusive Recovery) ที่ประชุมสนับสนุนให้ดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือพหุภาคี เพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 และก้าวไปสู่การฟื้นตัวอย่างสมดุล ยั่งยืน และทันท่วงทีให้ครอบคลุมทุกมิติและทุกภาคส่วน

2.2 ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการดำเนินนโยบายการคลังและการบริหารงบประมาณในการรับมือกับความท้าทายจากโควิด-19 เนื่องจากมีส่วนช่วยในการรักษาระดับการจ้างงาน รักษาระดับการบริโภค ส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ความโปร่งใสทางการคลัง ความโปร่งใสด้านหนี้สาธารณะ ความมีประสิทธิภาพของการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ภาคการคลังของไทยปัจจุบันยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลยังมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายต่าง ๆ อีกทั้ง ได้วางแนวทางเพิ่มศักยภาพทางการคลังผ่านหลัก 3Rs ได้แก่ 1. Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ 2. Reshape หรือการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ และ 3. Resilience หรือการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ได้มีการใช้มาตรการภาษีผลักดันการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

 

3. ที่ประชุม APEC FMM ได้พิจารณารับรองแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเซบูฉบับใหม่ (New Strategy for Implementation of the Cebu Action Plan) โดยได้นำเอาปัจจัยแวดล้อมใหม่ที่สำคัญ ได้แก่ 1)วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 ซึ่งมุ่งเน้นปัจจัยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 3 มิติ ได้แก่ การค้าและการลงทุน นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมและ 2)สถานการณ์ของโควิด-19 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวด้วย

4. ประเทศไทยยินดีที่จะสานต่อประเด็นริเริ่มของนิวซีแลนด์ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 โดยกรอบ APEC FMP ในปีหน้านั้นจะให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิภาคเอเปคในบริบทโลกหลังโควิด-19 ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมดิจิทัลและการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040ด้วย

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าประเทศไทยจะเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และแจ้งกำหนดการประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP ในปี 2565 ดังนี้ 1) การประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies' Meeting: APEC FCBDM) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 17 มีนาคม 2565 2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Senior Officials’Meeting: SFOM)มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 24 มิถุนายน 2565 และ 3) การประชุม APEC FMM มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 ตุลาคม 2565พร้อมทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP ในปีหน้าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเอเปคและองค์กรระหว่างประเทศในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคเอเปคให้มุ่งสู่การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืนและครอบคลุมต่อไป