วิกฤติโควิด-19 กระทบกับธีมการลงทุนอย่างไรบ้าง

08 ต.ค. 2564 | 08:49 น.

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกตกอยู่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ส่งผลให้เกิดการปรับตัวทั้งด้านการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เปลี่ยนไป และยังมีผลต่อต่อธีมการลงทุนทั้ง 8 ด้าน ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนโลก

นายเดวิด ดอเคอร์ตี้ ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนแบบ Thematics, Schroders เปิดเผยว่า ธีมการลงทุนหลักที่ Schroders มีความเชื่อมั่นเสมอมาคือ การลงทุนที่เกิดจากความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นความสมดุลระหว่างจำนวนประชากรและทรัพยากร หรืออุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมต่างๆ

นายเดวิด ดอเคอร์ตี้ ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนแบบ Thematics, Schroders

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกตกอยู่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ได้เป็นแรงผลักดันให้มุนษยชาติรวบรวมสรรพกำลังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆเพื่อต่อสู้กับโรคร้าย ส่งผลให้เกิดการปรับตัวทั้งด้านการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เปลี่ยนไป

 

โควิด-19 บีบคั้นความไม่สมดุลระหว่างประชากรโลกและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ตึงเครียดยิ่งขึ้น อีกทั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์อุปทานในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับผลกระทบ  จึงขอนำเสนอผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ต่อธีมการลงทุนทั้ง 8 ด้าน ซึ่งคาดว่า มีศักยภาพในการเปลี่ยนโลกที่อาศัยอยู่นี้ ได้แก่ นวัตกรรมการดูแลสุขภาพ ระบบการผลิตอัจฉริยะ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ดิสรัปชัน การเข้าสู่สังคมเมืองทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่ และการเติบโตอย่างยั่งยืน

  • วิกฤติทำให้เห็นความสำคัญของนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพยิ่งขึ้น

หัวใจหลักสำคัญของวิกฤตโควิด-19 หนีไม่พ้นเรื่องที่โศกนาฏกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมวลมนุษยชาติ ดังนั้นมนุษย์จึงรับมือกับเรื่องนี้ ด้วยการพัฒนาวัคซีนขึ้นมาสู้กับไวรัส โดยบริษัทที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี RNA เป็นกลุ่มบริษัทแรกๆ ที่สามารถพัฒนาวัคซีนได้ พร้อมกันนั้น รัฐบาลในประเทศต่างๆ และภาคเอกชนก็เร่งดำเนินการรักษาผู้ป่วยจากทั้งโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่แทบจะเกินกำลังความสามารถจะรับได้ไหว

 

การระบาดใหญ่ครั้งนี้ ยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมการดูแลสุขภาพที่มีบทบาทอย่างมากต่อสังคม โดยหัวใจสำคัญของแนวคิดการลงทุนด้านนี้คือ ความเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล การประมวลผล และความรู้ทางการแพทย์เข้าด้วยกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลสุขภาพ  ซึ่งจะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าด้านการรักษาด้วยการแพทย์ขั้นสูง เทคโนโลยีทางการแพทย์ บริการด้านการดูแลสุขภาพและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลสุขภาพในลักษณะของการแพทย์ทางไกล ซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการให้บริการสาธารณสุขอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤติเช่นนี้

 

  • ระบบการผลิตอัจฉริยะจำเป็นต่อการรับมืออุปสงค์ที่ไม่คงที่

การขาดแคลนอุปสงค์อุปทานอย่างกะทันหันทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตต้องพึ่งพานวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยในการบริหารการผลิตมากขึ้น โดยเราคาดว่าบริษัทต่างๆ จะหันมาพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในระดับท้องถิ่นให้สามารถทำงานควบคู่ไปกับห่วงโซ่อุปทานเดิมที่กระจายอยู่ทั่วโลก พร้อมทั้งลงทุนเพิ่มเติมในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจและบริหารจัดการอุปสงค์ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงกระบวนการจัดซื้อที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

 

การลงทุนในระบบการผลิตอัจฉริยะยังรวมไปถึงแนวคิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ ระบบอัตโนมัติในรูปแบบของหุ่นยนต์ ระบบเซนเซอร์ และระบบควบคุมต่างๆ ตลอดจนนวัตกรรมด้านวัตถุดิบ เช่นวัสดุมวลเบา เป็นต้น เนื่องจากบริษัทต่างๆ ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านฮาร์ตแวร์ ซอฟต์แวร์ และวัตถุดิบต่างๆเพื่อให้เกิดการทำงานคล่องตัวยิ่งขึ้น  จริงอยู่ว่าบริษัทเหล่านี้ต้องเผชิญกับการปรับตัวในช่วงแรกๆ แต่การถูกดิสรัปจากวิกฤติโควิดก็แสดงให้เห็นแล้วว่านวัตกรรมด้านการผลิตนั้นสำคัญต่อการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ และความสามารถในการผลิตทั้งในยามปกติและยามวิกฤติ

 

  • เทรนด์การใช้ชีวิตที่กำลังมาแรง: อีคอมเมิร์ซและการเอาใจใส่ด้านสุขภาพ

ขณะที่ภาคธุรกิจกำลังรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากวิกฤติโควิด ฝั่งผู้บริโภคเองก็ปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงรูปแบบใหม่ ดังจะเห็นจากความนิยมซื้อสินค้าออนไลน์แม้ในกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ช้ายังตระหนักรู้ถึงข้อดีของบริการส่งสินค้าถึงบ้าน และใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะคงพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ต่อไปแม้วิกฤติครั้งนี้จะจบลงก็ตาม

 

เช่นเดียวกัน กระแสการดูแลสุขภาพก็มาแรงตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาด และถูกกระตุ้นให้เพิ่มการดูแลตัวเองอย่างจริงจังยิ่งขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด ด้วยการจัดสรรเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อการออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพ

 

ด้านที่ขาดหายไป อย่างการท่องเที่ยว หรือการร่วมงานแสดงสดต่างๆ ซึ่งถูกยกเลิกไปในช่วงของการแพร่ระบาดนั้น เราเชื่อมั่นว่ากิจกรรมเหล่านี้จะฟื้นคืนมาอย่างรวดเร็วเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ การใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากสัญญาณของ “revenge consumption” หรือการบริโภคเพื่อเอาคืน หรือชดเชยในช่วงที่จำเป็นต้องงดเว้นไป จากผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์

 

  • ดิสรัปชันนำสู่นวัตกรรม

ดังที่เห็นกันแล้วว่า โควิด-19 ทำให้เกิดดิสรัปชัน หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในหลายภาคส่วนทั่วโลก และเรารับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ ในมุมของของการลงทุน นวัตกรรมและดิสรัปชันนั้นเป็นแรงกระตุ้นซึ่งกันและกัน และจะยังคงอยู่ไปอีกนานแม้วิกฤติรอบนี้จะผ่านไป ยกตัวอย่างเช่น วิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหันเมื่อทุกคนต้องทำงานจากที่บ้านหรือทำงานทางไกล ซึ่งนี่อาจกลายเป็นรูปแบบการทำงานถาวรสำหรับหลายคน บริษัทจึงอำนวยความสะดวกในการทำงานทางไกลด้วยการติดตั้งซอร์ฟแวร์ที่สนับสนุนการทำงานทางไกลให้มีประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ ในระหว่างที่มีการล็อคดาวน์ ยังพบว่ามีการใช้งานติดต่อสื่อผ่านและประชุมผ่านระบบวิดีโอออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และการเข้าสังคมผ่านช่องางออนไลน์นี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของผู้คนไปในที่สุด  รวมไปถึงเทรนด์อื่นๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น อาทิ การเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นเงินดิจิทัล เป็นต้น กล่าวในภาพรวม การผสานกันระหว่างเทคโนโลยีอันชาญฉลาดต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง และ Internet of Things จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเปลี่ยนโลกทั้งในฝั่งฟินเทค การสื่อสาร และอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

  • ทิศทางการใช้ที่ดินเร่งการเปลี่ยนสู่ความเป็นเมืองในทั่วโลก

เราเชื่อว่า ดิสรัปชันยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในธีมการลงทุนที่เรามองเห็นแนวโน้มว่าในเชิงบวกคือ การเปลี่ยนแปลงจากชุมชนชนบทเป็นชุมชนเมือง (urbanization) โดยผลจากโรคโควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งเทรนด์การใช้พื้นที่ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วให้เติบโตยิ่งขึ้น เช่น ความต้องการด้านข้อมูลและการสื่อสาร อันเป็นผลจากการทำงานทางไกล ช่วยตอกย้ำความสำคัญของดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 

 

ขณะเดียวกันความท้าทายด้านสุขภาพที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ก็ทำให้เกิดการสร้างและพัฒนาศูนย์วิจัยทางการแพทย์โดยบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับความจำเป็นเร่งด่วนใหม่ๆ ด้านสาธารณสุข ส่วนระยะยาว การทำงานจากที่บ้านจะทำให้การพัฒนาอาคารสำนักงานเผชิญแรงต้านที่รุนแรงยิ่งขึ้น  ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่มีหน้าร้านตั้งอยู่ก็จะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆมากขึ้น และจำต้องเล็งเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สามารถสร้างโอกาสในระยะยาวในยุคที่อีคอมเมิร์ซได้รับความนิยม

 

  • ทำงานทางไกลช่วยภาวะโลกร้อน

แม้ว่าวิกฤติด้านสาธารณสุขจะกลบกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกไปแล้ว แต่เป็นไปได้ที่ปี 2563 จะเป็นปีที่ภาคธุรกิจได้ตระหนักว่า เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายโดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง เช่น การประชุมทางไกลด้วยระบบวิดีโอ ส่งผลดีต่อวิกฤตการณ์โลกร้อน  เราคาดว่า นโยบายต่างๆของภาครัฐในอนาคต จะมุ่งเน้นสนับสนุนนโยบายที่สอดคล้องกับการต่อต้านภาวะโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อแทบทุกอุตสาหกรรม และเป็นการบอกแนวโน้มการลงทุนในระยะยาวที่ควรมองหาบริษัทที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความพยายามบรรเทาหรือปรับตัวให้เข้ากับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

 

  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานไปสู่พลังงานรูปแบบใหม่คือธีมการลงทุนระยะยาว

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานในรูปแบบใหม่จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดยังคงเป็นแนวโน้มการลงทุนในระยะยาวที่น่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่หลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจติดตั้งแผงพลังงานโซล่าร์เซลล์ให้กับบ้านเรือนต่างๆ อาจได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงในระยะสั้นช่วงที่มีวิกฤติโควิดนี้  คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดมากกว่า 120 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2593 ซึ่งเราเองก็มองหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ตลอดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ นับตั้งแต่การผลิตพลังงานสะอาด การส่งและกระจายไฟฟ้า การจัดเก็บพลังงานไฟฟ้า ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

  • การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อบริษัทอย่างยุติธรรมคือหัวใจของการเติบโตอย่างยั่งยืน

วิกฤติโควิด คือ เครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ซัพพลายเออร์ ลูกค้า หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ถือหุ้น ซึ่งต่างก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ความสัมพันธ์ที่ว่านี้เป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาการลงทุนเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนของเรา ความสัมพันธ์อันราบรื่นระหว่างบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

 

การเผชิญความยากลำบากไปด้วยกันช่วยให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เราเชื่อมั่นว่าสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมส่งผลดีต่ออนาคต การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลบนโลกใบนี้ด้วยเชาว์ปัญญาของมนุษย์เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ และการสร้างสรรค์ที่ว่านี้เป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืนของ Schroders

 

มูลค่าการลงทุนและรายได้จากการลงทุนอาจลดลงหรือเพิ่มขึ้น และนักลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนเท่ากับเงินลงทุนตั้งต้น ข้อมูลนี้ไม่ใช่ข้อเสนอ การชักชวน หรือคำแนะนำในการใช้กลยุทธ์การลงทุนใดๆ