"รวมหนี้" มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร เรื่องต้องรู้ก่อนคิดปรับโครงสร้างหนี้

08 ต.ค. 2564 | 02:43 น.

ธปท. เตรียมออกกรอบเกณฑ์เงื่อนไขการ"รวมหนี้" เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมหนี้และรีไฟแนนซ์ โดยคาดว่าเกณฑ์ใหม่น่าจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยลูกหนี้ถูกลงถึง 10% เรามาทำความเข้าใจเรื่อง การรวมหนี้ มีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร

ในเร็ว ๆนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกกรอบเกณฑ์เงื่อนไขการ"รวมหนี้" เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมหนี้และรีไฟแนนซ์ โดยเป็นการรวมหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน (บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล)  และรวมหนี้ในธนาคารเดิมหรือต่างธนาคาร ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ ธปท.ประเมินว่าเกณฑ์ใหม่ที่ออกมา จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ลงถึง 10% พร้อมทั้งจะออกเกณฑ์ห้ามไม่ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ และห้ามคิดค่าธรรมเนียมกรณีลูกหนี้ชำระหนี้หรือปิดบัญชีก่อนกำหนด การรวมหนี้ตามเกณฑ์ใหม่จึงน่าจะได้รับความสนใจจากบรรดาลูกหนี้อยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ดีก่อนที่ธปท.จะคลอดเกณฑ์รวมหนี้ออกมา  เรามาศึกษาข้อดีและข้อเสียการรวมหนี้  ซึ่ง"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมจากบทความ โดยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)  ระบุเนื้อหาดังนี้

การรวมหนี้  คือ  การที่นำหนี้ที่มีอยู่จากหลายๆ ที่ทั้งในและนอกระบบ หรือจากบัตรเครดิตหลายๆ ใบ เอามารวมไว้ที่เดียวกัน เพื่อขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินในระบบ มาปิดหนี้ดอกแพงทั้งหมดทันที แล้วมาเลือกผ่อนเป็นรายงวดคืนให้กับธนาคารด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ทำให้มีการชำระหนี้เพียงที่เดียว 
 

"รวมหนี้" มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร  เรื่องต้องรู้ก่อนคิดปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ตาม ในการรวมหนี้นั้น ต้องเข้าเงื่อนไขของการให้สินเชื่อส่วนบุคคลของสถาบันการเงิน โดยเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้สถาบันการเงินสามารถให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้กู้จะสามารถกู้ได้เต็มวงเงินทุกราย สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขการพิจารณาที่แตกต่างกัน แต่โดยมากจะดูจากประวัติการเงินที่ผ่านมา เช่น ประวัติการผ่อนชำระที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เคยค้างชำระหรือไม่ มีสินเชื่ออะไรบ้างและวงเงินสูงสุดที่ได้เป็นเท่าไหร่ ซึ่งผู้ที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี ชำระตรงเวลา มีโอกาสสูงที่จะได้รับพิจารณาจากสถาบันการเงิน

 

ข้อดีของการรวมหนี้

  • หนี้ทั้งหมดจากหลายๆ ที่ ก็จะถูกนำมารวมเป็นหนี้ก้อนเดียวกัน และดอกเบี้ยก็จะถูกคิดที่หนี้ก้อนที่รวมแล้วเพียงที่เดียว ทำให้เหลือภาระจ่ายหนี้ที่สถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว 
  • ทำให้ไม่ต้องปวดหัวกับการโดนทวงถามจากหลายๆ เจ้าหนี้
  • มีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยมากในช่วงแรกของการผ่อน สถาบันการเงินมักให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต แต่ในช่วงท้ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรวมหนี้ อาจสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตได้ หากคุณมีหนี้ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้บัตรเครดิต คุณจะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เพราะโดยมากอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบจะแพงกว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบมาก อย่างไรก็ตามหากมีแต่หนี้บัตรเครดิตเพียงอย่างเดียว คุณต้องพิจารณาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้รับ เพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย
  • จํานวนเงินที่ต้องผ่อนชําระต่อเดือนจะต่ำลง ทำให้ภาระรายจ่ายต่อเดือนลดลง ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตัวคุณได้ 
  • การรวมหนี้จะทำให้รู้ระยะเวลาการผ่อนหนี้ที่แน่นอน เช่น 3 ปี 5 ปี (ตามข้อตกลงของแต่ละสถาบันทางการเงิน) ทำให้เราสามารถวางแผนการเงินได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสปลดหนี้ได้ง่ายกว่า 

 

ข้อเสียของการรวมหนี้

  • อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลส่วนมากจะสูงกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต จากเดิมที่เคยเสียเฉลี่ยที่ 20% ต่อปี อาจต้องเสียเฉลี่ยเพิ่มเป็น 25% ต่อปี (ควรพิจารณาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเพื่อประกอบการตัดสินใจ)
  • เมื่อคุณต้องการรวมหนี้มาจากบัตรเครดิต ยอดหนี้ของคุณจะรวมทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับต่างๆ  และเงินก้อนนี้ก็จะเป็นยอดหนี้ใหม่ที่คุณต้องมาเสียดอกเบี้ยซ้ำอีกที เท่ากับว่าคุณต้องจ่ายดอกเบี้ย 2 ต่อ

 

ที่มา : เพจ SCB Thailand