‘ประกันภัย’อ่วมอีก เคลม‘โควิด-19-นํ้าท่วม’

07 ต.ค. 2564 | 06:54 น.

บริษัทประกันอ่วม ธ.ก.ส.ประเมินพื้นที่ปลูกข้าว เสียหาย 18 ล้านไร่ เงินประกัน 22,680 ล้านบาท ข้าวโพด 1.4 ล้านไร่ เงินประกัน 2,100 ล้านบาท สมาคมวินาศภัย คาดความเสียหายเกิน 50% ลุ้นเกษตรกรทยอยยื่นเคลม ก.พ.-มี.ค.ปีหน้า

อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ที่เข้าประเทศไทย ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตร แม้ว่าจะยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ เพราะต้องรอหลังน้ำลดก่อน แต่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) คาดว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะกระจายไปในพื้นที่ 40 จังหวัด

 

สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยจะได้ความช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังคือ ด้านพืช จะได้รับการช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ข้าวไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผักไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท และหากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวและข้าวโพดจะได้เงินชดเชยจากบริษัทประกันเพิ่มเติมอีก

‘ประกันภัย’อ่วมอีก เคลม‘โควิด-19-นํ้าท่วม’

ส่วนด้านประมงจะได้รับชดเชยรายละไม่เกิน 5 ไร่ โดยปลาทุกชนิด/สัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,682 บาท กุ้ง/หอยทะเลไร่ละ 11,780 บาทและกระชัง/บ่อซีเมนต์ตรม. ละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตรม.

 

ขณะที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2564 จะได้รับเงินวงเงินคุ้มครองเพิ่มอีก 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับการประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) ที่มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 55-230 บาทต่อไร่ ขึ้นกับพื้นที่ความเสี่ยง  และวงเงินคุ้งครองอีก 240 บาทต่อไร่ หากมีการทำประกันภัยส่วนเพิ่ม(Tier 2) ซึ่งจะมีค่าเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 24-101 บาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ความเสี่ยง รวมเงินประกันภัยที่ได้รับ 1,500 บาทต่อไร่ 

 

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มพื้นที่จะประสบอุทกภัยปีนี้อยู่ที่ประมาณ 40 จังหวัด 255 อำเภอที่มีพื้นที่ปลูกข้าว มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยกว่า 3.6 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 43.5 ล้านไร่คิดเป็น 96% จากพื้นที่เป้าหมาย 45 ล้านไร่ โดยคาดว่า พื้นที่ปลูกข้าวที่จะได้รับผลกระทบ 18 ล้านไร่เกษตรการ 1.3 ล้านราย ส่วนข้าวโพดมีโอกาสเคลมสินไหมราว 82,442 ราย พื้นที่ 1.48 ล้านไร่คิดเป็น 52% จากพื้นที่เป้าหมาย 2.86 ล้านไร่

 

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

 

กระบวนการต้องพิจารณาจากพื้นที่่ประสบอุทกภัยตามประกาศของปภ. ซึ่งหลังจากน้ำลด ธ.ก.ส.จะร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องลงประเมินความเสียหายและคณะกรรมการพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้น จริง ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนยื่นขอเคลมค่าสินไหมทดแทน

 

นอกจากนั้นยังมีโครงการประกันภัยโคนม (ภาคสมัครใจ) ซึ่งรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนเบี้ยประกัน มีเกษตรกรเข้าร่วม 5 ราย จำนวนโคนม 210 ตัว แต่ช่วงที่มีโรคระบาด โดยเฉพาะโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease)ที่แพร่ระบาดในโค กระบือ มีเกษตรกรเข้าร่วม 322 ราย จำนวนโคเนื้อ 3,266 ตัว

สำหรับอัตราความคุ้มครองข้าวกรณีนาข้าวได้รับความเสียหายเกิน 50% วงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ แต่หากเกิดจากโรคระบาดพืชจะจ่ายความคุ้มครองครึ่งเดียวคือ 630 ล้านบาทต่อไร่ ส่วนข้าวโพดวงเงินคุ้มครอง 1,500 บาทต่อไร่ กรณีเสียหายจากโรคระบาดพืชคุ้มครอง 750 บาทต่อไร่ โดยสถิติเคลมสินไหมปี 2563 นาข้าว 37,000 ราย พื้นที่ 427,000 ไร่ คิดเป็นค่าเคลมสินไหมรวม 520 ล้านบาท ส่วนข้าวโพดมีเกษตรกรรับเคลม 3,400 ราย พื้นที่ 26,000 ไร่เศษ คิดเป็นค่าเคลมสินไหม 34 ล้านบาท

 

นายสมเกียรติกล่าวว่า ในพื้นที่ 40 จังหวัดที่น้ำท่วมยาวนาน (เส้นทางน้ำไล่ตั้งแต่พิษณุโลก สุโขทัย ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และน้ำจะลงปลายทางที่อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ ซึ่งเป็นจุดสุ่มเสี่ยงอุทกภัยและศรีษะเกศ) การจ่ายเคลมขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ หากเสียหายเกิน 50% ประมาณปลายตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายนจะรู้ตัวเลข แต่พื้นที่ศรีษะเกศถึงอุบลฯ จะรับน้ำถึงต้นธันวาคมของทุกปี ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวปลายพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมจะมีอีกรอบ

 

นอกจากจะดูช่วงปลายฝนต้นหนาวแล้ว ในพื้นที่ 40 จังหวัดเป็นโจทย์ต้องดูแล ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยมวลน้ำที่มา สามารถบริหารจัดการได้และคาดการณ์ปริมาณผลผลิตพืชหลักในหลายพื้นที่มีแนวโน้มดี แต่จะต้องมีกลไกด้านการตลาดช่วงปลายปีด้วย ซึ่งรัฐบาลเตรียมงบประมาณรองรับผลผลิตไว้ก่อนแล้ว เช่น งบประมาณชดชย ลดต้นทุน ส่งเสริมการรักษา และประกาศการประกันราคาให้กับเกษตรกร ซึ่งปีนี้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้จัดเตรียมงบประมาณเพิ่ม และกระทรวงพาณิชย์เตรียมมาตรการคู่ขนาน

 

“ที่สำคัญสำหรับเกษตรกรไทยต่อไป ต้องบริหารความเสี่ยงเพื่อเข้าสู่ระบบประกันภัยภาคสมัครใจ เพราะแต่ละปีจะเกิดเหตุการณ์เฉพาะขึ้น เช่น โรคระบาดพืช-สัตว์ดังนั้น เกษตรกรเริ่มเรียนรู้จากพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกพืชหลัก ไม่ว่าข้าว ข้าวโพด หรือ ปศุสัตว์ นอกจากเตรียมเงินเพื่อดูแลพืชหลักๆ และปศุสัตว์แล้ว ในส่วนของการประกันภัยเกษตรกรจะต้องเตรียมทรัพยากรไว้” นายสมเกียรติ กล่าว

 

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวว่า แนวโน้มความเสียหาย อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ปีนี้น่าจะเกิน 50% ซึ่งแย่กว่าปีก่อน และขึ้นกับพายุด้วยว่า จะเข้ามาอีกหรือไม่ และความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอย่างไร ส่วนกระบวนการจ่ายเคลมค่าสินไหม จะเริ่มเห็นเกษตรกรยื่นคำขอเคลมประกันภัยประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม 2565 เพราะกระทรวงกระเกษตรฯ ต้องสำรวจความเสียหาย เพื่อจ่ายเงินชดเชยในส่วนของรัฐบาลก่อน จากนั้นประกันภัยจะจ่ายเพิ่ม (On TOP) ตามพื้นที่รัฐบาลกำหนด

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

 

สำหรับปีนี้ มีประกันภัยนาข้าว 43.5 ล้านไร่ เบี้ยรับ 3,568 ล้านบาท ส่วนข้าวโพด 14.9 ล้านไร่ เบี้ยรับ 238 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้้ยังเป็นต้นฤดูความเสียหาย ตัวเลขที่รายงานเข้ามายังน้อย แต่ถ้าดูแนวโน้มความเสียหายแล้ว น่าจะแย่กว่าปีก่อน โดยที่ผ่านมา ปี 2562 รับเบี้ยมา 2,167 ล้านบาท จ่ายเคลมไป 482 ล้านบาท Loss Ratio สูงถึง 222.69% และ ปี 2563 รับเบี้ยมา 3,297 ล้านบาท จ่ายเคลมไป 520 ล้านบาท Loss Ratio ปรับลดมาอยู่ที่ 15.78%

 

“แนวโน้มปีนี้ไม่ค่อยดี เพราะยังมีความเสี่ยงจากมรสุมที่จะเข้ามาอีก ยังไม่รู้ทิศทาง แต่สัญญาณดีคือ ถ้าลมหนาวจากจีนมาเร็วจะช่วยลดความรุนแรงของพายุได้บ้าง” นายอานนท์กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,720 วันที่ 7 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564