ธ.โลกหั่นจีดีพีไทยปี 64 เหลือโต 1% คาดหนี้สาธารณะปีหน้าขยับแตะ 62%

28 ก.ย. 2564 | 05:41 น.

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) หั่นเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 1% จากผลกระทบโควิด-การกระจายวัคซีนและเปิดรับนักท่องเที่ยวช้าลง คาดใช้เวลาฟื้นตัว 3 ปี โดยคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยับโต 3.6%

28 ก.ย.64 นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 64 เหลือ 1% จากเดิมเมื่อเดือนก.ค.64 ที่คาดการณ์ไว้ 2.2% เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19  และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวที่ 3.6% ในปี 65 โดยคาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวราว 3 ปี

 "เหตุที่เราปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1% มองว่าเศรษฐกิจจะใช้เวลาในการฟื้นตัวมากขึ้น หลังเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ช้าลง" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

สาเหตุที่ระบบเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวช้าลงอีก เนื่องจากการกระจายวัคซีนล่าช้า โดยคาดว่าการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมประชากร 70% ได้ราวกลางปี 65 ซึ่งมีผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวในปีนี้จะดีกว่าปีก่อนหลังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้วแต่ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนราว 44 ล้านคน โดยหลังจากฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้า 70% แล้วคาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวน 1.7 ล้านคน

"ส่งออก"กลไกหลักขับเคลื่อนศก.

โดยกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากการส่งออก หลังการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออก เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นแต่มีข้อจำกัดในการเดินทาง แต่การส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องปัญหาคอขวดของระบบห่วงโซ่การผลิตและระบบโลจิสติกส์

ขณะที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนจะเริ่มทยอยฟื้นตัว ดังนั้นการใช้มาตรการด้านการคลังจะมีส่วนช่วยหนุนภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 70% ของจีดีพี ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีพื้นที่ด้านการคลังเพียงพอที่จะประคับประคองระบบเศรษฐกิจ โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะน่าจะขยับจาก 43% ในปีนี้ไปอยู่ที่ 62% ในปีหน้า

"การขยายเพดานหนี้ จะเพิ่มโอกาสในการประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น เพิ่มการลงทุนในระยะกลาง ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มไปกว่า 60% เป็นการชั่วคราว หลังฟื้นเศรษฐกิจได้แล้วก็จะลงมาต่ำกว่า 60%"

นายเกียรติพงศ์ กล่าวต่อว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ในประเทศจึงมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งหลังจากมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะแล้วจะต้องดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพด้านการคลังในระยะกลาง กล่าวคือ การใช้เงินกู้ต้องมีความโปร่งใส จะมีการลงทุนอย่างไร จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร ซึ่งต้องมีการใช้เงินกู้ให้ตรงจุด เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เป็นต้น

คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้โต 8.5%

นอกจากนี้ธนาคารโลกยังได้ปรับลดคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยรายงาน "East Asia and Pacific Fall 2021 Economic Update" ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจอ่อนแรงลง และเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาคเหล่านี้

ธนาคารโลกได้ตัดสินใจปรับลดคาดการณ์ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 8.5% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่เหลือในภูมิภาคจะขยายตัวเพียง 2.5% ซึ่งลดลงเกือบ 2% จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย.ปีนี้

มานูเอลา เฟอร์โร' ประธานธนาคารโลกฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับความพลิกผันในอนาคต

ในปี 2563 นั้น ภูมิภาคแห่งนี้สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในปี 2564 นี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ซึ่งส่งให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคอ่อนแอลง

รายงานของธนาคารโลกประมาณการว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้น จะสามารถฉีดวัคซีนได้กว่า 90% ของจำนวนประชากรในประเทศภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการฉีดวัคซีนยังไม่สามารถขจัดการติดเชื้อโควิด-19 ให้หมดไป แต่ก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้หลายประเทศสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

"การฉีดวัคซีนและตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้นเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะช่วยฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศอย่างเร็วที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวเป็นสองเท่าในปีหน้า แต่ในระยะยาวนั้น มีแต่เพียงการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงลึกเท่านั้นที่จะสามารถป้องกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมได้" อทิตยา แมททู หัวหน้านักเศรษฐกิจประจำเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลกกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้แนะนำทางออก 4 ประการสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในการรับมือกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้น ซึ่งได้แก่ การแก้ไขปัญหาความลังเลที่จะฉีดวัคซีนและการจำกัดการแจกจ่ายวัคซีน, การเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อและติดตามผู้ติดเชื้อ, เพิ่มการผลิตวัคซีนในภูมิภาค และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขในท้องถิ่นให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น