‘เวิลด์แบงก์’ฟันธง หนี้สาธารณะไทยปี65 ทะลุเพดาน แตะ 62.1%

21 ก.ค. 2564 | 08:02 น.

โควิด-19 ระลอกใหม่ ถล่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 64 ถ้วนหน้ารวมถึงไทย มองหนี้สาธารณะปี 65 ทะลุเพดานความยั่งยืนการคลัง แตะ 62.1% สบน.รับยังไม่เรียกประชุมเพิ่มเพดานหนี้ สศค.แนะ 4 แสนร้านค้า ถุงเงิน สมัคร ม.40 รับเยียวยา 5,000 บาท

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2564 ของประเทศเหล่านนั้น ซึ่งรวมถึงไทยด้วย โดยเวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีไทยปี 2564 เหลือ 2.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมีนาคมไว้ที่ 3.4%

 

หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ยืดเยื้อยาวนานเกินกว่าจะควบคุมได้ จนส่งผลให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดยาวจนไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งถือเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้ลดเหลือ 1.2% ได้ ซึ่งรวมถึงปี 2565 ที่คาดการณ์ว่า จะขยายตัวได้ที่ 5.1% ก็อาจจะลดเหลือเพียง 2.1%

 

อย่างไรก็ตาม เวิร์ลแบงก์มองว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการค่อนข้างดีในแง่ความเร็วในการรับมือด้านการคลัง จากการที่รัฐบาลขยายมาตรการความช่วยเหลือด้านการเงินกับประชาชน จากที่่ไม่มากนัก มาเป็นชุดของมาตรการเยียวยา

 

ธนาคารโลกได้จำลองสถานการณ์เบื้องต้นไว้ว่าปี 63 ไทยจะมีคนจนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 7.8 แสนคน หากรัฐบาลไม่เพิ่มมาตรการความช่วยเหลือทางด้านสังคม

 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลกเปิดเผยว่า การออกพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทในปี 2563 ซึ่งมีการเบิกจ่ายประมาณ 70% และปีนี้ได้พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ในมาตรการเยียวยา มาตกรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข ส่งผลให้ไทยขาดดุลทางการคลังปีที่แล้ว 5.6% และปีนี้มีแนวโน้มจะขาดดุลการคลัง 9.6% เนื่องจากรายจ่ายที่ปรับเพิ่มสวนทางกับรายรับที่น้อยลง และมีการเบิกจ่ายเงินกู้จากพ.ร.ก.ทั้งสองฉบับ

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก

สำหรับปี 2565 จะเริ่มเห็นการขาดทุนทางการคลังลดลงเหลือ  5.0% แม้ลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเมื่อเทียบช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งในการประมาณการความยั่งยืนทางการคลังนั้น จะเห็นว่า ก่อนโควิดสัดส่วนหนี้สาธารณต่อจีดีพีอยู่ที่ 43% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 59% และจะขยับเป็น 62.1% ในปี 2565

 

แม้ระดับหนี้สาธารณะจะมากกว่าระดับความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดเพดานไว้ที่ 60% แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยยังมีพลวัตที่มีความยั่งยืน เพราะความเสี่ยงถูกบริหารด้วยภาระหนี้สกุลเงินบาทและสภาพคล่องในในประเทศพร้อมจะรองรับการเพิ่มขึ้นของหนี้ได้

ประมาณการเศรษฐกิจไทย

 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากโควิดยังมีอยู่ในระดับสูง ดังนั้นในแง่ของความเสี่ยงทั้ง จากโควิดมีโอกาสจะเกิดรอบใหม่ สายพันธุ์ใหม่ที่ควบคุมยากขึ้น, ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อจำกัดการเดินทางเพื่อลดการติดเชื้อ และมีความเป็นไปได้ที่การจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนล่าช้า

 

รัฐอาจต้องใช้มาตรการอื่นในการบริหารการแพร่ระบาดของโควิด แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็อาจมีโอกาสเห็นจีดีพี Upside โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วและการค้าที่กลับมาซึ่งไทยมีโอกาสได้อานิสงส์จากการค้าขายเพิ่มขึ้น

 

นางแพตริเซีย มงคลวนิชผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ความกังวลว่า หนี้สาธารณะของไทยจะพุ่งทะลุเพดาน 60% ของจีดีพีนั้น  ขณะนี้ยังไม่มีการประชุมเพื่อทบทวนกรอบตัวเลขหนี้สาธารณะแต่อย่างใด ซึ่งตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 64 จะอยู่ที่ 58.56% นั้น เป็นตัวเลขที่รวมการกู้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเต็มวงเงิน และรวมกับตัวเลขกู้เงิน 100,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในปีงบฯ 64 แล้ว

แพตริเซีย มงคลวนิชผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้มว่า  ขณะนี้มีผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ที่ผ่านการตรวจสอบคัดกรองและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง มีประมาณ 400,000 ร้านค้า  ซึ่งกระทรวงการคลังได้ส่งข้อมูลใหกับกระทรวงแรงงาน เพื่อคัดกรองว่ามีผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 จำนวนเท่าไหร่

กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

“กระทรวงแรงงานเปิดให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบ ลงทะเบียนสมัครเป็นผู้ประกันตนตามใน ม.40 ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นจะนำตัวเลขเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้อีกครั้ง เพื่อขออนุมัติวงเงินและรูปแบบการจ่ายเงินเยียวยา”

 

หน้า 1   หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,697 วันที่ 18 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564