อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 33.35 บาท/ดอลลาร์

20 ส.ค. 2564 | 00:17 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวต้านยังคงอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาท/ดอลลาร์ เชื่อว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่ แนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 33 บาท/ดอลลาร์อาจเห็นผู้นำเข้า ทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.35 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าหนัก ทว่าเงินบาทกลับไม่ได้อ่อนค่าตามไปมาก ซึ่งเรามองว่า มาจากแรงขายเงินดอลลาร์จากโฟลว์การทำธุรกรรมของผู้ส่งออกบางส่วน รวมถึง การขายทำกำไรสถานะ Shorts ค่าเงินบาทของผู้เล่นในตลาด หลังจากที่ผู้เล่นบางส่วนเริ่มมองว่า สถานการณ์การระบาดในไทยใกล้จะถึงจุดเลวร้ายสุด

 

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากทั้งความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย และแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของเฟด ซึ่งเรามองว่าประเด็นเฟดทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดคิวอี อาจส่งผลต่อการจัดพอร์ตของนักลงทุน ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยลดการลงทุนในภูมิภาค EM Asia ชั่วคราว เนื่องจากอาจกลัวผลกระทบจากการประกาศปรับลดคิวอีของเฟดจะเหมือนเหตุการณ์ QE Taper Tantrum ในปี 2013

 

ทั้งนี้ แนวต้านของค่าเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอคอยที่โซนดังกล่าวเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่ แนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นผู้นำเข้า ทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ได้ หากระหว่างวันค่าเงินบาทมีการแข็งค่าเข้าใกล้โซนดังกล่าว (Buy on Dip) ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบที่กว้าง จึงทำให้ หากมีโฟลว์การทำธุรกรรมขนานใหญ่เข้ามา อาจกดดันให้ค่าเงินผันผวนสูงระหว่างวันได้

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.45 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงถูกกดดันจากทั้งความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงแนวโน้มเฟดทยอยลดคิวอีในปีนี้ ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าทยอยเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึง สินทรัพย์ในธีม Reopening & Cyclical plays กดดันให้ ทั้งหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ต่างปรับตัวลดลงหนัก ในขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น บอนด์ รวมถึง เงินดอลลาร์ ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้

 

ในฝั่งสหรัฐฯ แนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงสู่ระดับ 3.48 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดมองไว้ที่ 3.63 แสนราย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนให้ตลาดมองว่า เฟดมีแนวโน้มทยอยลดคิวอีได้ในปีนี้ หากตลาดแรงงานฟื้นตัวดีขึ้นตามความต้องการของเฟด ซึ่ง “รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด” ได้กดดันบรรยากาศการลงทุนให้อยู่ในโหมดระมัดระวังตัว ส่งผลให้ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาโดยเฉพาะ หุ้นในธีม Cyclical  กดดันให้ ดัชนี Downjones ปิดตลาดลดลงกว่า -0.19% นอกจากนี้ ภาวะตลาดระมัดระวังตัว ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกว่า 2bps สู่ระดับ 1.24% หนุนให้ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้น ช่วยให้ ดัชนี S&P500 รวมถึง ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.13% และ +0.11% ตามลำดับ

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับฐานหนักกว่า -1.54% ตามแรงขายทำกำไร หุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Kerings -9.5%, Louis Vuitton -6.4% กลุ่มยานยนต์ Daimler -3.4%, BMW -3.1% รวมถึง หุ้นกลุ่มการเงิน BNP Paribas -2.7%, Santander -2.7% ขณะที่ มีเพียงหุ้นในกลุ่มเทคฯ อย่าง Adyen +5.8% ที่สามารถปรับตัวขึ้นสวนตลาดจากแนวโน้มผลกำไรแข็งแกร่งและแรงหนุนจากบอนด์ยีลด์ที่อยู่ในระดับต่ำ

ทางด้านตลาดค่าเงิน โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากความต้องการหลุมหลบภัยความผันผวนในตลาด (Safe Haven asset) ส่งผลให้เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) เดินหน้าปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.57 จุด นับเป็นการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่สูงที่สุดในรอบ 9 เดือนกดดันให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.168 ดอลลาร์ต่อยูโร

 

เราคงมุมมองว่า เงินยูโรที่ระดับดังกล่าว เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการระบาดของเดลต้าในยุโรปไม่ได้มีความน่ากังวลมากนัก และเศรษฐกิจก็พร้อมจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ดังนั้น หากนักลงทุนหรือผู้ประกอบการมีภาระต้องแลกซื้อเงินยูโร ก็สามารถเริ่มพิจารณาทยอยซื้อเงินยูโรได้เนื่องจากเงินยูโรได้อ่อนค่าลงมาในโซนแนวรับสำคัญแล้ว

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจกดดันให้ตลาดเข้าสู่สภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มสถานะถือครองเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนชั่วคราวได้

 

นอกเหนือจากประเด็นสถานการณ์การระบาดของเดลต้าทั่วโลก ในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของชาวอังกฤษมากนัก โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจโตถึง +5.8%y/y ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคนั้นหนุนโดยการเดินหน้าเปิดประเทศ ไปพร้อมกับเร่งคุมสถานการณ์การระบาด ผ่านการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และ การเร่งแจกจ่ายวัคซีนประสิทธิภาพสูง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบที่ระดับ 33.31-33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด ตลาดรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาณจากการประชุมประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole  ระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค. เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะที่เหลือของปี 
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.20-33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดในประเทศ ทิศทางกระแสเงินทุนต่างชาติ และการตอบรับของตลาดต่อการคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนส.ค. ของธนาคารกลางจีน