ความเชื่อมั่นประเทศทรุด กดเงินบาทอ่อนค่า

14 ส.ค. 2564 | 05:07 น.

กูรูประสานเสียง วอนธปท.ช่วยประคองความเชื่อมั่น หยุดความผันผวนเงินบาท หลังอ่อนค่านำโด่ง 10.6% ห่วงนักลงทุนเสียความเชื่อมั่น มองบาทอ่อนค่าจนกู่ไม่กลับ เลวร้ายสิ้นปีแตะ 40 บาทต่อดอลลาร์ เทียบระดับเดียววิกฤติเศรษฐกิจ

การระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต กดดันให้นักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และวันที่ 10 สิงหาคม 2564 อ่อนค่าในรอบ 3 ปี อยู่ที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและยังอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคถึง 10.6% เมื่อเทียบกับต้นปีที่ผ่านมา 

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มเงินบาทยังอ่อนค่าได้อีก โดยระยะสั้นสัปดาห์นี้ เงินบาทมีโอกาสทดสอบ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยหลักยังเป็นการควบคุมโควิด-19 ภายในประเทศและเพิ่มความเสี่ยงต่อปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินบาท โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดเสี่ยงจะขาดดุลหรือติดลบลึกขึ้น นอกจากนี้โควิดยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย 

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

“เงินบาททรงตัว ในกรอบแคบช่วงต้นปี แต่หลังการระบาดโควิดรอบ 3 เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะที่ฝั่งดอลลาร์แข็งค่า จากแรงหนุนจากสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะปรับลดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) สะท้อนการกลับมาคุมเข้มนโยบาย หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว เงินเฟ้อสูง”นางสาวกาญจนากล่าว

 

ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย(ฟันด์โฟล์) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 พบว่า นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร  7.2 หมื่นล้านบาท ทำให้นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรไทยอยู่ประมาณ  9.29 แสนล้านบาท เทียบกับสิ้นปี 2563 ที่ถือครองพันธบัตรอยู่ 8.57 แสนล้านบาท  ส่วนสถานการณ์ลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยขายสุทธิ 1.02แสนล้านบาท  ซึ่งเป็นปัจจัยเงินบาทด้านอ่อนค่าเช่นกัน ขณะที่แนวโน้มยังมีโอกาสเห็นเงินทุนไหลออกอีก

การเคลืื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่างๆ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ธนาคาร ยูโอบีกล่าวว่า ความเชื่อมั่นของประเทศปัจจุบันลดลงอย่างมาก ซึ่งมีปัญหามากกว่าโควิด-19 ยิ่งกดเงินบาทให้อ่อนค่าลง ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น มีเพียงกลุ่มส่งออกเท่านั้นที่ยังได้รับประโยชน์ แต่หากจะปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าไปเรื่อยๆ จนอาจทำให้นักลงทุนนักธุรกิจขาดความมั่นใจจะคุ้มหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มจะไม่สามารถเรียกความมั่นใจกลับมา โดยแนวโน้มเงินบาทยังมีโอกาสจะอ่อนค่า 35-40 บาทต่อดอลลาร์

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ธนาคาร ยูโอบี

กรณีเลวร้าย เงินบาทอ่อนค่าถึง 40 บาทต่อดอลลาร์ ถ้ายังกระจายฉีดวัคซีนได้เพียง 1 แสนคนต่อวัน กว่าจะเปิดประเทศประมาณปลายปีหน้า จึงไม่แปลกที่อาจจะเห็นเงินบาทอ่อนค่า 40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับเดียววิกฤติเศรษฐกิจ แต่กรณีฐานเงินบาทอ่อนค่าไม่เกิน 34.50 บาท ถ้าสามารถยกระดับการฉีดวัคซีนได้ 5 แสนคนต่อวัน สถานการณ์ควรคุมได้ภายในสิ้นปี เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติต้นปีหน้า

 

“ความผันผวนเงินบาทสูงผิดปกติ และอ่อนค่าขาเดียว ตอนนี้เป็นจังหวะทุกคนต้องการความมั่นใจ แต่เราทำอะไรไม่ได้เลย จริงๆ เรื่องเศรษฐกิจและค่าเงินบาทนั้น มี KPI เดียวคือ ต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้ครอบคลุมประชากรให้ได้เกินกว่า 50% จึงจะเห็นการหยุดอ่อนค่าของเงินบาท และเห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นทันที ซึ่งจุดนี้ธนาคารกลางต้องช่วยประคองความเชื่อมั่น  โดยทำให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวนจนทำให้นักธุรกิจกิจและนักลงทุนเสียความเชื่อมั่นหรือมองเงินบาทว่าอ่อนค่าจนกู่ไม่กลับ”นายจิตติพล กล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb Analytics ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ทีทีบีมองแนวโน้มเงินบาทเคลื่อนไหว 34.5-35 บาท/ดอลลาร์ โดยเฉพาะหากการควบคุมโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ดังนั้นผู้นำเข้าจะต้องประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อล็อคต้นทุนของตัวเอง เพราะแนวโน้มปีนี้อาจจะเห็นเงินบาทอ่อนค่ามากได้อีก ขึ้นกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb Analytics ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี)

ส่วนภาคส่งออกยังมีทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยง ขณะที่สัญญาณการส่งออกยังบวกสอดคล้องดุลการค้า แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังมีแนวโน้มจะขาดดุล เพราะรายได้ต่างประเทศยังไม่มา มองไปข้างหน้าก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์โควิดภายในประเทศ

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า สถานการณ์โควิดในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า หากสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในอัตรา 0.25% ซึ่งถ้าธปท.ลดดอกเบี้ยในช่วงที่เฟด พร้อมใช้นโยบายการเงินที่คุมเข้มมากขึ้น ยิ่งกดดันค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปอีก

 

“ตอนนี้เริ่มเห็นภาพ self-fulfilling effect คือ ฝรั่งยิ่งขายสินทรัพย์ไทยออก เพราะเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะเดียวกันปัจจัยการเมืองในประเทศมีโอกาสเห็นการประท้วงหรือชุมนุมที่มีความรุนแรงมากขึ้น เพราะหากย้อนดูเหตุการณ์เกิดโรคระบาดใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา เช่น สมัยกาฬโรค จะมีการประท้วงใหญ่รุนแรงตามมา ซึ่งอาจจะกระทบตลาดเงินบ้างในระยะสั้น ขึ้นอยู่กับว่าทางการจะรับมือกับโรคอย่างไร”นายพูนกล่าง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,704 วันที่ 12 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564