6 วิธีรับมือ "Post-Concert Depression" อาการเศร้าหลังคอนเสิร์ตจบ

07 เม.ย. 2567 | 02:54 น.

นักจิตวิทยาแนะ 6 วิธีรับมือ ภาวะ "Post-Concert Depression (PCD)" อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นหลังงานคอนเสิร์ต-เทศกาลแห่งความสุขจบลง เผย สามารถทำให้รู้สึกดีขึ้นได้ง่ายๆ

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงที่ลดลงจนถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคประจำถิ่นและไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมแล้ว หลายประเทศเริ่มมีการปรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยนอกจากแผนดึงดูดการท่องเที่ยวจากทั้งคนในประเทศและชาวต่างชาติแล้ว ยังรวมไปถึงการจัดงานบันเทิงต่างๆ ด้วย ซึ่งนับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ อนึ่ง เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศหลังจากที่ซบเซามานาน และเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจของคนในประเทศให้ดีขึ้นหลังจากถูกจำกัดให้มีการงดจัดงานรื่นเริงมานาน 

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการกลับมาจัดงานได้ตามปกติ รวมถึงในประเทศไทยก็มีการบูมเรื่องการจัดงานบันเทิงต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันก็กำลังผลักดันให้อุตสาหกรรมเฟสติวัล (Festival) เป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทย ส่งผลให้ทั้งคนในและต่างประเทศมีส่วนร่วมในงานคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และงานรื่นเริงต่างๆ มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการสะพัดของเม็ดเงินภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ
 

แต่หากมองในด้านของจิตวิทยาหรือสภาวะทางจิตใจนั้น การได้มีช่วงเวลาดีๆ ในงานรื่นเริง ไม่ได้มีแค่ความรู้สึกตื่นเต้น ยินดี และมีความสุขเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาพร้อมกับอาการที่เรียกว่า ภาวะ "Post-Concert Depression (PCD)" หรืออาการที่เกิดจากความรู้สึกเศร้าหลังจากกลับมาจากงานคอนเสิร์ต อันเกิดจากสารแห่งความสุขต่างๆ ในร่างกายถูกหลั่งออกมาเป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่แปลกที่พอช่วงเวลานั้นผ่านไป หลายคนจะเกิดความรู้สึกซึมเศร้าในวันถัดไป และแม้อาการนี้จะไม่ได้มีการวินิจฉัยหรือมีการวิจัยมากนัก แต่ก็ถือเป็นภาวะที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจจนทำให้ผู้คนขาดแรงจูงใจในการเรียน ทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ

ดร. Michele Leno นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้ง DML Psychological Services, PLLC บริษัทที่ให้บริการคำปรึกษาทั่วเทศมณฑลในโอกแลนด์ (Oakland) และเวย์น (Wayne) รวมถึงมีจัดการบำบัดออนไลน์ให้กับลูกค้าทั่วมิชิแกน (Michigan) ในสหรัฐ แนะนำ 6 วิธีรับมือ "Post-Concert Depression" อาการเศร้าหลังคอนเสิร์ตจบ ดังนี้

1. คิดถึงสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้าหรือตั้งเป้าหมายใหม่

การจะเกิดคอนเสิร์ตหรืองานอีเวนต์ต่างๆ ได้ต้องใช้เวลาในการประกาศและเตรียมการเป็นระยะเวลาหลายเดือน จนอาจทำให้หลายคนหมกมุ่นและคิดวนเวียนอยู่กับงานที่จะเกิดขึ้น ส่งผลให้เมื่อสิ่งนั้นผ่านไปก็จะรู้สึกเหมือนถูกทิ้งไว้อย่างไร้ทิศทาง โดยดร. Michele Leno แนะนำให้คิดถึงสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองไปให้ไกลกว่าการแสดงที่ยอดเยี่ยม และมองหาว่าทำไมงานนี้ถึงทำให้มีความสุขและมีความหมายมากกับตัวเอง หลังจากนั้นก็จะสามารถวางแผนหาวิธีรับมือต่างๆ เพื่อเข้าถึงความรู้สึกนั้นได้   

2. ดื่มด่ำกับความสุขของตัวเอง

หลังจากได้ไตร่ตรองว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ตัวเรามีความสุขมากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นการได้แต่งตัว การได้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อน หรือการฟังดนตรีสด พยายามเปิดรับกับสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีและคิดถึงความตื่นเต้นเชิงบวกในชีวิตให้มากขึ้น แม้จะกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม พึงนึกไว้เสมอว่า เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า “ความสุขนี้เป็นของเรา” 

3. แสดงความรู้สึกออกมาเพื่อตัวเราเอง

การได้แสดงตัวออกมาเพื่อศิลปินที่ชื่นชมเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงตัวตนด้วยงานศิลปะที่รัก แนวคิดที่เชื่อ หรือกิจกรรมที่ทำให้มีความสุข พยายามรักษาพลังงานในการดูแลตัวเองเอาไว้ แม้ว่าคอนเสิร์ตจะจบลงแล้ว ออกไปทำสิ่งเหล่านั้นให้มากขึ้น อาทิ การไปดื่ม-กินกับเพื่อน และการซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่ทำให้รู้สึกมั่นใจ เป็นต้น

4. เพลิดเพลินชีวิตไปกับผู้อื่น

ดร. Michele Leno กล่าวว่า เมื่อการแสดงนั้นผ่านไป เราจะมีโอกาสได้ดำเนินชีวิตผ่านผู้อื่นเสมอ ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่สามารถซื้อบัตรหรือเข้าร่วมงานนั้นๆ ได้ แทนที่จะรู้สึกอิจฉาหรือรู้สึกพลาดโอกาสที่ดีไป (Fear Of Missing Out : FOMO) ให้พยายามใช้เวลาสักครู่เพลิดเพลินไปกับสิ่งที่เพื่อนหรือผู้คนบนโซเชียลมีเดียแบ่งปันช่วงเวลาเหล่านั้นมาให้ได้ชมไปด้วยกัน

5. ปล่อยผ่านผู้ที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราสนใจและให้คุณค่ากับมัน

เป็นเรื่องปกติที่ไม่ใช่ทุกคนในชีวิตของเราจะเข้าใจความสุขและความตื่นเต้นเกี่ยวกับคอนเสิร์ตเหล่านั้น รวมถึงคงจะไม่เข้าใจความผิดหวังหรือความรู้สึกตกค้างในภายหลังของเรา แต่นั่นไม่เป็นไร เพราะการที่พวกเขาไม่เข้าใจก็ไม่ได้ทำให้ประสบการณ์ของเราเป็นจริงน้อยลงแต่อย่างใด “ไม่ต้องสนใจพวกที่ไม่ยอมรับ จนกว่าพวกเขาจะได้สัมผัสมันด้วยตัวเอง” ดร. Michele Leno กล่าว

6. พูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนรอบตัวที่เราวางใจ

หากรู้สึกเศร้าใจจริงๆ ให้ลองสื่อสารกับผู้อื่น เช่น ผู้ที่ไปดูคอนเสิร์ตด้วยกัน เพราะพวกเขาอาจจะกำลังรู้สึกแบบเดียวกันอยู่ก็เป็นได้ การได้พูดคุยกันเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายลง ทั้งนี้ หากเป็นในกรณีอื่นๆ การพูดคุยกับนักบำบัดเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงก็เป็นความคิดที่ดีเช่นกัน แม้ความรู้สึกต้องการความช่วยเหลือนี้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งคราวก็ตาม

 

ขอบคุณที่มา : Business Insider