กางปฏิทินปฏิบัติการล่า "ทางช้างเผือก" ปี 2567 

14 มี.ค. 2567 | 06:40 น.

เริ่มแล้วปฏิบัติการล่า "ทางช้างเผือก" Milky Way ปี 2567 กางปฏิทินเช็คไทม์ไลน์ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพและสังเกตเห็น "ทางช้างเผือก" ได้ด้วยตาเปล่าเพื่อเก็บบรรยากาศพร้อมภาพไว้ในความทรงจำ

เริ่มขึ้นแล้วสำหรับเทศกาล ล่าทางช้างเผือกปี 2567 โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนเหล่าสาวก "ทางช้างเผือก" ทั้งหลายต้องห้ามพลาดชมปรากฎการณ์ความงามบนท้องฟ้า ปักหมุดวันและเวลาที่ดีที่สุดในการออกมาเช็คอินเพื่อให้ได้ชมภาพทางช้างเผือกที่สวยงามมากที่สุดในปี 2567 นี้ ด้วยตาของคุณเอง  

ทำความรู้จัก "ทางช้างเผือก" (Milky Way)

ทางช้างเผือก เป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นแถบสว่างพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้  บริเวณที่สวยงามที่สุด คือ บริเวณใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) เป็นส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือกจะมีลักษณะเป็นแนวฝุ่นหนาทึบ เห็นได้อย่างชัดเจน ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย อาทิ ดาวฤกษ์ กระจุกดาว เนบิวลา เป็นต้น 

แนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่ระหว่าง "กลุ่มดาวแมงป่อง" และ "กลุ่มดาวคนยิงธนู" ปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้และเนื่องจากใจกลางทางช้างเผือกอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ ทางตอนใต้ของไทยจึงมองเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่สูงจากขอบฟ้ามากกว่าภูมิภาคอื่น ชาวใต้จึงมีโอกาสสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจนมาก

กางปฏิทินปฏิบัติการล่า \"ทางช้างเผือก\" ปี 2567 

ในหนึ่งปีจะมีช่วงเวลาที่สามารถสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ไม่ครบทุกเดือน เนื่องจากช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในบริเวณใจกลางทางช้างเผือก ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ถือเป็นช่วงเปิดฤดูกาล ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ตั้งแต่วันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ 2567 ในช่วงรุ่งเช้า แนวใจกลางทางช้างเผือก จะเริ่มปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขนานกับเส้นขอบฟ้า สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. จนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น อีกช่วงคือ 8 - 22 มีนาคม 2567 (หลังจากนั้นจะมีแสงสว่างจากดวงจันทร์รบกวน) 

กางปฏิทินปฏิบัติการล่า \"ทางช้างเผือก\" ปี 2567 

ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ขนานกับขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. จนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หมายความว่า จะมีเวลาให้เก็บภาพทางช้างเผือกประมาณไม่เกิน 3  ชั่วโมงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ถือ เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลออกล่าทางช้างเผือกยามเช้า และนอกจากใจกลางทางช้างเผือกที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังมีดาวเคราะห์ให้ชมอีก 2 ดวง ได้แก่ ดาวอังคาร และดาวศุกร์ ปรากฏในช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกอีกด้วย

ปลายเมษายน 2567

แนวใจกลางทางช้างเผือกจะค่อย ๆ เปลี่ยนทิศทางเป็นแนวพาดบริเวณกลางฟ้า ช่วงนี้จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป สามารถชื่นชมความสวยงามและบันทึกภาพทางช้างเผือกได้ยาวนานขึ้น    

ปลายเมษายน-ต้นตุลาคม 2567

เป็นช่วงเวลาที่ทางช้างเผือกปรากฏบนท้องฟ้าสวยงามที่สุด จะสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูได้ง่าย ทางช้างเผือกบริเวณนี้จะสว่างและสวยงามกว่าบริเวณอื่นๆ และอยู่ในตำแหน่งกลางท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืน แต่เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน จึงมักมีอุปสรรคเรื่องเมฆและฝนตก  หากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆฝนก็จะถือเป็นโอกาสดีที่สุดของการถ่ายภาพทางช้างเผือกในรอบปี 

ช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน 2567

เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อุปสรรคเรื่องเมฆฝนจะเริ่มน้อยลง ทางช้างเผือกจะปรากฏและสังเกตเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

กางปฏิทินปฏิบัติการล่า \"ทางช้างเผือก\" ปี 2567 

ปัจจัยสำคัญในการสังเกตเห็นทางช้างเผือก 2567

ปกติแล้วเราสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เกือบตลอดทั้งปี แต่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ สภาพท้องฟ้า หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดี ไม่มีแสงรบกวนทั้งแสงจากดวงจันทร์ แสงไฟจากเมือง ก็จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน แต่คนในเมืองส่วนใหญ่มักไม่มีโอกาสได้ชมทางช้างเผือก เนื่องจากตัวเมืองมีแสงไฟ ฝุ่นละอองและควัน เป็นจำนวนมาก ทัศนวิสัยของฟ้าในเขตเมืองจึงไม่เอื้อต่อการสังเกตเห็นทางช้างเผือก หากต้องการสัมผัสทางช้างเผือกอาจจะต้องเดินทางต้องไปยังสถานที่ที่ห่างจากตัวเมืองอย่างน้อยประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อหลีกหนีจากมลภาวะทางแสงและฝุ่นละอองต่างๆ

คำแนะนำ

ผู้ที่สนใจถ่ายภาพทางช้างเผือก 

ควรหาสถานที่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้เล็กน้อย เป็นพื้นที่มืดสนิทไม่มีแสงรบกวน ตั้งกล้องโดยหันหน้ากล้องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก ช่วงเวลาตั้งแต่ 04.00 น. จนถึงรุ่งเช้า บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้าง ปรับระยะโฟกัสของเลนส์ที่ระยะอนันต์ ใช้รูรับแสง ที่กว้างที่สุด พร้อมตั้งค่าความไวแสงตั้งแต่ 3200 ขึ้นไป 

สำหรับมือใหม่ ลองนำเทคนิคดังกล่าวไปปรับใช้กันดูครับ ใช้ได้ทั้งกล้องถ่ายภาพ และสมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบันก็มีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้สวยงามไม่แพ้กล้องใหญ่ ๆ เลย
 

ข้อมูล : สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ / ภาพ : จรูญ ทองนวล Charoon Thongnual