ไขข้อข้องใจ ปรากฏการณ์ "แสงจากเรือไดหมึก"

05 พ.ย. 2566 | 07:55 น.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดภาพ "แสงจากเรือไดหมึก" พร้อมคลายปมปรากฏการณ์นี้ มีที่มาและเกิดขึ้นจากอะไร เหตุใดจึงมีแสงสีเขียว หาคำตอบได้ที่นี่

จากปรากฏภาพแสงสีเขียวเหนือท้องทะเลยามค่ำคืนซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นวงกว้าง ระบุว่า เป็น แสงจากเรือไดหมึก โดยล่าสุด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ได้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ในหัวข้อ "ทางช้างเผือก เมฆ และแสงจากเรือไดหมึก" พร้อมภาพประกอบให้ได้เห็นกันอย่างชัดเจน พร้อมข้อความระบุว่า 

หลังจากไขปริศนาที่มาของแสงจากเขาพะเนินทุ่งกันไปแล้วว่า เป็นแสงที่เกิดจากมนุษย์สร้าง (ซึ่งจริง ๆ แล้วก็อาจฟันธงไม่ได้ว่าเป็นแสงมนุษย์สร้างชนิดใด เพราะก็เคยมีกรณีที่มาจากวัดทางฝั่งพม่าจัดงานเช่นกัน) แน่นอนว่า แสงจากเรือไดหมึก ก็สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ (หากจะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์) เช่นนี้ได้เช่นกัน

โดยภาพดังกล่าวนี้ ถ่ายจากชายฝั่งของหัวหิน ช่วงเดือนมิถุนายน 2557 จากภาพจะสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือก ซึ่ง ณ ช่วงเดือนที่ถ่ายภาพนั้น ทางช้างเผือกทำมุมขนานกับเส้นขอบฟ้าพอดี เบื้องหน้าของแสงดาวที่ห่างออกไปหลายร้อยหลายแสนปีแสงนั้น ก็คือแสงที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศของเรา ที่เต็มไปด้วยเมฆ และแสงไฟที่มนุษย์สร้างขึ้น

จากภาพจะเห็นแสงจากเรือไดหมึกจำนวนมากเรียงรายกันอยู่ที่ขอบฟ้า ไกลออกไปในอ่าวไทย และเห็นได้ชัดว่า แสงที่สะท้อนเมฆกลับลงมานั้น เปลี่ยนแปลงไปตามสีของแหล่งกำเนิดแสงที่อยู่จากเบื้องใต้ โดยเฉพาะเมฆส่วนขวาของภาพที่เป็นสีเขียวล้วน แทบไม่ต่างอะไรจากภาพที่บันทึกไว้จากเขาพะเนินทุ่ง เมื่อวันก่อน ซึ่งในกรณีนี้ก็น่าจะชัดเจนว่า มาจากแสงเรือ

ที่มาของคำว่า เรือไดหมึก 

ส่วนคำว่า "เรือไดหมึก" นั้นมาจากคำว่า "ไดนาโม" ซึ่งคือเครื่องปั่นไฟที่ทำให้เกิดแสงเพื่อล่อหมึกซึ่งแท้จริงแล้วนั้นตัวหมึกไม่ได้ต้องการหาแสงไฟแต่ว่าแพลงก์ตอน และตัวอ่อนกุ้งที่เป็นอาหารของพวกมันนั้นถูกล่อได้ด้วยแสงไฟซึ่งหมึกเองก็ตามอาหารของพวกมันมา

ทำไม ? จึงมีแสงสีเขียว

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องเป็นแสงสีเขียวนั้น คำถามนี้ มีข้อที่น่าสังเกตที่ว่า ประเทศอื่นทั่วโลกก็มีการใช้แสงในการล่อเพื่อการประมงตกหมึกเช่นเดียวกัน แต่ประเทศอื่นนั้นมักจะนิยมใช้แสงสีขาว เคยมีงานวิจัยโดย SEAFDEC ออกมาเพื่อศึกษาสีที่มีผลต่อการล่อหมึก ภายใต้หัวข้อ "Boosting the development of responsible squid light fishery: Assessment of squid feeding behavior" ที่ได้ทดลองล่อหมึกด้วยแสงสีขาว สีน้ำเงิน สีเขียว และสีแดง

แสงจากเรือไดหมึก

ผลการทดลองพบว่า หมึกนั้นถูกล่อได้ด้วยแสงขาวและแสงสีน้ำเงินพอ ๆ กัน และดีกว่าแสงสีเขียวอย่างมีนัยะสำคัญแต่แสงสีแดงนั้นกลับเป็นแสงที่แย่มากในการล่อหมึกซึ่งเราสามารถอธิบายผลของปรากฏการณ์นี้ได้ง่าย ๆ โดยหลักการทางฟิสิกส์ เนื่องจากน้ำทะเลนั้นมีการดูดกลืนแสงสีแดงได้ดีมาก จึงทำให้ใต้ทะเลนั้นแสงสีแดงทะลุไปไม่ค่อยถึง ผู้ที่เคยดำน้ำก็จะทราบดีว่าใต้ทะเลนั้นมักจะมีแต่แสงสีออกฟ้า ๆ ที่ลงไปถึงซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่า สัตว์บางชนิด เช่น หมึกยักษ์ จะมีสีแดง เพื่อการพรางตัว เนื่องจากเป็นแสงสีที่ส่องลงไปไม่ถึง

ดังนั้น แท้จริงแล้วจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และหลักการทางฟิสิกส์ ดูจะไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่พิเศษที่จะจำเป็นจะต้องใช้แสงสีเขียวในการล่อหมึก นอกไปจากการประพฤติปฏิบัติตาม ๆ กันมา อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในอ่าวไทยนั้นมีตะกอนค่อนข้างมากซึ่งแสงสีเขียวอาจจะทะลุลงไปได้ดีกว่าก็อาจจะเป็นหัวข้อที่น่าสนใจที่จะทำการทดลองในสเกลการทำงานจริงกันต่อไป

ข้อมูล/ภาพ: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ