วันฮาโลวีน (Halloween) กับ “ผีไทย” ในตำนาน

24 ต.ค. 2565 | 03:53 น.

"ฮาโลวีน" เวียนมาอีกครั้ง เหล่าบรรดานักปาร์ตี้เริ่มคิดหนักว่าจะจัดชุดแฟนซีผีประเภทไหนไปร่วมงานปีนี้ ด้วยความที่ว่า เทศกาลฮาโลวีนมีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ปาร์ตี้ทุกปีเราจึงได้เห็นแฟนซี "ผีไทย" ร่วมสร้างสีสัน ประกาศ "ความหลอน" ที่ไม่เป็นรองใคร

เทศกาลฮาโลวีน (Halloween) ช่วงเวลาแห่งความกรี๊ด หวีด สยอง เวียนกลับมาอีกแล้วทุกๆ วันสิ้นเดือนตุลาคม (31 ต.ค.) ตามประวัติความเป็นมาของชาติตะวันตกที่เป็นต้นกำเนิดเทศกาล กล่าวได้ว่านี่เป็น "วันปล่อยผี” หรือเป็นวันที่มิติคนตายและคนเป็น หรือโลกแห่งวิญญาณและโลกแห่งมนุษย์ จะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

 

ตามตำนานเล่าว่า ใน วันสิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูร้อน และก่อนจะขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 พฤศจิกายน วิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมา จะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อเข้าสิง เพื่อที่วิญญาณนั้นจะได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ คนเป็น ๆ จึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้วิญญาณมาเข้าสิงร่างของตน ชาวเซลท์ (ชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์) จึงปิดไฟทุกดวงในบ้าน เพื่อให้อากาศหนาวเย็นและไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาภูติผีปีศาจ

 

แต่ไฮไลท์ก็คือ การพยายามแต่งกาย “ปลอมตัว” เป็นผีร้าย เพื่อให้ผีหรือดวงวิญญาณที่กำลังล่องลอยอยู่ในโลกมนุษย์ เข้าใจผิดว่าเป็นผีเหมือนกัน ก็จะได้ไม่เข้าสิงร่าง นี่จึงเป็นที่มาของการแต่งกายเลียนแบบเป็นผีต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลฮาโลวีน

กล่าวกันว่า ฮาโลวีน เป็นวันที่มิติคนตายและคนเป็น หรือโลกแห่งวิญญาณและโลกแห่งมนุษย์ ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

สำหรับประเทศไทยที่ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้เช่นเดียวกับหลาย ๆประเทศทั่วโลก ผู้คนนิยมแต่งชุด “ผีไทย” รูปแบบต่าง ๆ มาร่วมงานปาร์ตี้ฮาโลวีน และประกวดประชันแข่งขันความหลอน เพื่อประกาศศักดาว่า “ผีไทย” ก็สร้างความหวีดผวาได้ไม่แพ้ผีชาติใดในโลก ฉะนั้น วันนี้ เราจะมาทำความรู้จัก “ผีไทย” ในตำนานกันให้มากขึ้นเพื่อสร้างอรรถรสและสีสันให้กับการแต่งชุดแฟนซีไปร่วมงานปาร์ตี้ฮาโลวีนปีนี้

เรามาเริ่มกันที่....

 

ผีกระสือ

เด็กไทยทุกคนน่าจะรู้จักผีกระสือเป็นอย่างดี อิทธิพลจากละครทีวีและภาพยนตร์ที่สร้างรีเมคสืบต่อกันมาหลายยุคสมัย “กระสือ” เป็นผีชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าสิงสู่อยู่ในตัวของคนเพศหญิง ซึ่งโดยมากมักเป็นยายแก่ ชอบกินของสดคาว และของโสโครก เช่น อุจจาระหรือรกเด็กแรกเกิด มักออกหากินเวลากลางคืน โดยจะถอดหัวออกจากร่างทิ้งไว้ที่บ้าน และลอยไปแต่หัวกับตับไตไส้พุง เห็นเป็นดวงไฟดวงโตมีแสงวาบๆ สีแดง บ้างก็ว่าเป็นแสงสีเขียวเรืองวาม ๆ ระยะเวลาถอดหัวออกหากินของกระสือจะเริ่มตั้งแต่เวลาหัวค่ำ ไปตลอดทั้งคืน ก่อนจะลอยกลับเข้าร่างเวลาใกล้รุ่งสาง

 

เวลากลางวันจะมีลักษณะร่างกายเหมือนคนทั่วไป แต่มีพฤติกรรมหรืออาการแบบแปลก ๆ ผิดปกติ เช่น ไม่ชอบสบตาคน เงียบ ๆ ไม่พูดไม่จากับใคร ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว บ้างก็ไม่ชอบแสงสว่าง ปกติแล้วกระสือจะไม่ทำร้ายคน หากได้พบกับคนระหว่างออกหากิน ก็จะลอยตัวหนีหายไป แต่ถ้าหากคนทำให้กระสือเกิดความไม่พอใจ หรือโกรธแค้น กระสือก็อาจมีความอาฆาตพยาบาท ตามไปชำระแค้นให้คนนั้นบาดเจ็บหรือถึงตายได้

ใบปิดภาพยนตร์ "กระสือกัดปอบ" (ขอบคุณภาพจากเพจ Thai Movie Posters)

สิ่งที่กระสือกลัวคือ หนาม กิ่งไม้เป็นหนามๆ (เพราะกลัวเกี่ยวไส้) และไฟ หากมีใครนำผ้าที่กระสือไปเช็ดปากทิ้งรอยเปื้อนเอาไว้ไปต้มในน้ำเดือด กระสือจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนปากจนทนไม่ไหว

 

ผู้ที่เป็นกระสือนั้นมักจะเป็นผู้ที่บูชาไสยศาสตร์มนต์ดำ (เดรัจฉานวิชา) แต่ทำผิดข้อห้าม จนตัวเองต้องกลายเป็นกระสือไปในที่สุด เมื่อใกล้ตาย กระสือมักจะคายน้ำลายของตนถ่ายเข้าปากลูกหลานคนใดคนหนึ่งไว้ให้สืบทายาทเป็นกระสือต่อไป

 

ผีกระหัง

อีกชื่อหนึ่งเรียกว่า กระหาง เป็นผีตามความเชื่อของคนไทย กระหังเป็นผีผู้ชาย คู่กับผีกระสือ ซึ่งเป็นผู้หญิง เชื่อกันว่าผู้ที่เป็นผีกระหังนั้น จะเป็นผู้ที่เล่นไสยศาสตร์ เมื่ออาคมแกร่งกล้าไม่สามารถควบคุมได้ก็จะเข้าตัว กลายเป็นผีกระหังไป

 

ผีกระหัง จะบินได้ในเวลากลางคืน จะใช้กระด้งฝัดข้าวติดกับแขนแทนปีก และใช้สากตำข้าวหรือสากกระเบือผูกติดกับขา แทนหาง หรือขา ออกหากินของโสโครก เช่นเดียวกับ ผีกระสือ หรือผีโพง

 

ผีแม่นาค (บ้างก็เขียน แม่นาก)

หรือในชื่อเต็มว่า ผีแม่นากพระโขนง มักเรียกสั้น ๆ ว่า “แม่นาก” (โดยมากสะกดด้วย ค.ควาย) หรือบางคนก็เรียก นางนาก เป็นผีตายทั้งกลม ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวไทยมายาวนาน เนื่องจากมีการผลิตเป็นละครโทรทัศน์ รวมทั้งภาพยนตร์และละครเวที มีการรีเมคผลิตแล้วผลิตอีกหลายครั้ง มีลักษณะเป็นผีสาวผมยาว ห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน ลักษณะที่เห็นเด่นชัด คือนางจะยืนอุ้มลูกรอสามี (พี่มาก) อยู่ที่ท่าน้ำเสมอๆ

นางนาก หรือผีแม่นากพระโขนง เวอร์ชั่นทราย เจริญปุระ (ขอบคุณโปสเตอร์ภาพยนตร์นางนาก)

เชื่อกันว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีศาลแม่นาคตั้งอยู่ที่วัดมหาบุศย์ ซอยสุขุมวิท 77 (ถนนอ่อนนุช) เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

 

ผีตานี

เป็นผีผู้หญิง เช่นเดียวกับผีนางตะเคียน โดยนางตานีจะสิงสถิตอยู่ในต้นกล้วยตานี อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ต้นกล้วยตานีทุกต้นจะมีพรายตานีสิงอยู่ ลักษณะของพรายตานีโดยทั่วไปจะเป็นหญิงงาม นุ่งห่มตามแบบสตรีไทยโบราณ สไบสีเขียวตองอ่อน ผ้านุ่งโจงสีตองแก่ กลิ่นกายหอมดอกกล้วย

 

เรื่องการเรียกพรายตานี (ให้ออกมาจากต้นกล้วย) นี้มีหลายตำนาน บ้างก็ว่าให้ชายที่ต้องการเรียกพรายตานีมาปัสสาวะรดโคนต้นกล้วยที่กำลังออกปลีใหม่ ๆ บ้างก็ว่าให้เอาของลับถูกับโคนต้นกล้วย

 

เจริญ อินทรเกษตร อธิบายไว้ในสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 13 ว่า “ต้นกล้วยตานี เป็นที่สิงสถิตของพรายนางตานี เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนรุ่นเก่า พรายนางตานีนี้ว่ากันว่า มีหน้าตาสวย มีกลิ่นตัวหอม ไว้ผมยาว ฝ่ามือฝ่าเท้าแดงอ่อนดุจตีนนกพิราบ ริมฝีปากมีสีเหมือนตำลึงสุก ถ้ากล้วยตานีมีลำต้นอวบ พรายนางตานีก็มีรูปทรงท้วม ถ้ามีลำต้นโปร่งเปลา พรายนางตานีก็มีรูปทรงฉลวย”

ใบปิดภาพยนตร์นางตานี ผีสาวที่มักจะมากับสีเขียวตองอ่อน

โดยเหตุที่พรายนางตานีเป็นผี ชาวบ้านจึงไม่กล้าปลูกกล้วยตานีไว้ใกล้เรือน แม้จะปลูกไว้ใกล้เรือน ถ้าจะตัดเอาใบตองไปใช้ ก็ห้ามไม่ให้ตัดเอาไปทั้งใบ ต้องเจียนเอามาแต่ใบตองเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องหักก้านเสียก่อน เพราะถ้าตัดเอาเข้ามาในเรือนทั้งใบ ถือเป็นลางร้ายว่าจะมีใครในบ้านนั้นตายลงในไม่ช้า ทั้งนี้ เห็นจะเนื่องจากคติเดิมที่ใช้ใบตองกล้วยตานีสามใบรองก้นโลงศพนั่นเอง

 

ผีพราย

ส่วนใหญ่มีถิ่นที่อยู่ในน้ำมากกว่าบนบก เชื่อกันว่าเป็นจิตวิญญาณชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กสุดตามลำดับของดวงจิตวิญญาณที่สามารถปรากฏให้รับรู้ได้ คือ พราย ภูติ ผี ปีศาจ ส่วนใหญ่มักมีที่มาจากการหมักหมมของซากพืชหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ

 

ดวงจิตวิญญาณนี้มักแสดงตนมีลักษณะเป็นผู้หญิงใส่เสื้อสีขาว เป็นดวงไฟเรืองแสง มักปรากฏตัวตอนเวลาหกโมงเช้า เที่ยงวัน หกโมงเย็น และเที่ยงคืน มักอยู่ในคลองหรือแม่น้ำที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เมื่อจับเหยื่อได้จะเอาร่างเหยื่อที่ไร้วิญญาณเป็นร่างของตน

 

ผีพรายส่วนมากจึงมักปรากฏร่างเป็นผู้หญิง ส่วนนางไม้ บางทีก็จัดเข้าพวกผีพรายได้เช่นกัน เช่น พรายตะเคียน พรายตานี เป็นต้น หรือแม้แต่ผีทะเลหรือผีน้ำ ก็จัดเป็นพรายด้วยเช่นกัน เช่น พรายทะเล พรายน้ำ (แต่ว่า “พรายน้ำ” ที่เป็นฟองผุด ๆ ขึ้นจากน้ำนั้น เป็นคนละอย่างกัน)

 

นอกจากนี้ ในเรื่องขุนช้างขุนแผนยังปรากฏผีพรายด้วย คือโหงพราย ส่วนนางพรายอีกลักษณะหนึ่ง คือ ปีศาจทะเล เป็นพรายสีเขียว หางเป็นเงือกคล้ายปลา เป็นปีศาจหญิงที่มักล่อเหยื่อนักเดินเรือสมุทรให้หลงทาง และประสพภัยหายนะ

 

ผีตายโหง

ผีตายโหง คือ คนที่เสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน แบบไม่ธรรมดาตามธรรมชาติ เช่น ถูกยิง จมน้ำ รถชน ฆ่าตัวตาย เป็นต้น สำหรับการตายทั้งกลมก็ถือว่าเป็นการตายแบบตายโหงเช่นกัน

 

ผีตายโหงจะเป็นผีที่จิตตก เนื่องจากจิตสุดท้ายก่อนตายอารมณ์ยังติดอยู่กับความหวาดกลัว ความตกใจ ความอาฆาตแค้น ความอาลัยอาวรณ์ ตายทั้งที่ยังทำใจไม่ได้ วิญญาณจึงติดอยู่ในบ่วงแห่งอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น ไม่สงบสุข เป็นวิญญาณทรมาน ไม่ยอมรับสภาพปัจจุบันของตัวเอง เลยยังคงเที่ยวปรากฏกายให้คนได้พบได้เห็น ยิ่งถ้าเป็นผีตายโหงที่ตายขณะยังมีความอาฆาตพยาบาทจะมีความดุร้ายเป็นพิเศษ

 

ผีตายโหงมักสิงสถิตอยู่กับที่ที่ตัวเองตาย เช่น ผีเฝ้าถนน ตามโค้งร้อยศพ เป็นต้น

 

ผีปอบ

ขอปิดท้ายผีไทย ด้วย “ปอบ” หรือ “ผีปอบ”  เป็นผีจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในความเชื่อพื้นบ้านของไทยมายาวนานจนถึงปัจจุบัน มีการนำมาทำเป็นละครและภาพยนตร์หลากหลายเวอร์ชัน ภาพจำของผู้ชมคือ มักจะมีการวิ่งหนีผีปอบลงโอ่งน้ำ ผลุบๆโผล่ๆหนีกันดูชุลมุนวุ่นวาย แต่ก็เป็นฉากคลาสสิคที่จะขาดเสียมิได้

 

ทางภาคอีสาน เชื่อกันว่า “ปอบ” เป็นผีที่กินของดิบ ๆ สด ๆ กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม มีความเชื่อว่า ผู้ที่จะกลายเป็นปอบนั้น มักจะเป็นผู้เล่นคาถาอาคม หรือคุณไสย พอรักษาคาถาอาคมที่มีอยู่กับตัวไม่ได้ หรือกระทำผิดข้อห้าม ซึ่งในภาษาอีสานเรียกว่า "คะลำ"  ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นปอบจะเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

"ปอบหยิบ" ในภาพยนตร์ไทย ต้องมากับ "ท่ามือหยิบ" และ "โอ่ง"

ปอบ เป็นผีที่ไม่มีตัวตนเหมือนกระสือหรือกองกอย แต่ปอบคือจิตวิญญาณมิจฉาทิฏฐิ จะเข้าแฝงร่างสิงสู่คนที่เป็นสื่อให้ และใช้ร่างหรือรูปลักษณ์ของคนๆนั้น ไปกระทำการไม่ดีต่างๆ และเชื่อด้วยว่า หากวิญญาณปอบเข้าสิงสู่ผู้ใด จะกินตับไตไส้พุงของผู้ที่โดนสิงจนกระทั่งตาย ผู้ที่โดนกินจะนอนตายเหมือนกับนอนหลับธรรมดา ๆ ไม่มีบาดแผล ซึ่งเรียกกันว่า "ใหลตาย"

 

ผู้ที่ถูกปอบเข้าสิง จะมีอาการเปลี่ยนไป เป็นดุร้าย รำพึงรำพันต่าง ๆ นานา จดจำบุคคลคุ้นเคยหรือคนในครอบครัวไม่ได้หรือไม่ก็กินอาหารดิบ ๆ สุก ๆ ที่เท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม วิธีการปราบผีปอบต้องใช้หมอผีหรือวิธีทางไสยศาสตร์ ในภาคอีสาน จะมีการทำพิธีจับผีปอบเป็นพิธีใหญ่ โดยหมอผีจะไล่จับผีปอบตามที่ต่าง ๆ โดยใช้อุปกรณ์อย่างหนึ่ง ที่เป็นเครื่องสาน เรียก "โมงข้อง" ใช้สำหรับกักขังปอบโดยเฉพาะ

 

เรื่องราวเหล่านี้เป็นตำนานเล่าขาน จะเห็นได้ว่า แต่ละชาติในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ต่างก็มีความเชื่อและเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูติผีปีศาจตามแบบฉบับท้องถิ่นของตนเอง “ฮาโลวีน” หรือเทศกาลวันปล่อยผีของชาติตะวันตกที่จัดกันสนุกสนานในไทย จึงมีแฟนซี “ผีไทย” ออกอาละวาดได้ ไร้ข้อจำกัด 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี