"12 สค.66” วันผ้าไทยแห่งชาติชวนคนไทยร่วมสืบสานสู่เวทีโลก

12 ส.ค. 2566 | 01:30 น.

“วันที่ 12 สิงหาคม วันผ้าไทยแห่งชาติ” ชวนคนไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานผ้าไทย บูรณาการร่วมกันต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับผ้าไทยสู่เวทีโลก

12ส.ค.66 "วันแม่แห่งชาติ" เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลมีนโยบายจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงออกถึงความจงรักภักดี โดยจัดโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่สอดคล้องกับโครงการต่างๆ ของพระองค์

พร้อมทั้งให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการและพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ เพื่อให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้ศึกษาหาความรู้จากโครงการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนา สร้างความเจริญรุ่งเรืองและความผาสุกให้กับประชาชนชาวไทย และเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานผ้าไทย
 

 โดยรัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ เพื่อรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” เป็นที่ประจักษ์มายาวนาน จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไป ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ สืบสานและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยโดยภาครัฐ เอกชนและประชาชนบูรณาการร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทย

อีกทั้งทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสานมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยจากรุ่นสู่รุ่นนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดและยกระดับผ้าไทยไปสู่เวทีโลก ขณะเดียวกันชุมชน ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมผ้าไทยได้รับการสนับสนุนให้เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นทั้งระดับฐานรากและระดับชาติอย่างยั่งยืน และประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในการนำทุนทางวัฒนธรรมด้านผ้าไทยมาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์  

 

“ผ้าไทย” คือ ผ้าที่สร้างสรรค์ขึ้นจากมรดกภูมิปัญญาของไทยที่ได้รับการสืบทอดต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่ผลิตขึ้นภายในประเทศโดยฝีมือคนไทย โดยใช้เทคนิค อาทิ การทอ จก ยก ขิด ล้วง ปัก มัดหมี่ มัดย้อม บาติก พิมพ์ โดยใช้เส้นใยธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ไหม ฝ้าย ใยสับปะรดที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น