จุฬาฯ พัฒนา DeepGI AI ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบแม่นยำ

13 เม.ย. 2565 | 01:47 น.

จุฬาฯ โชว์ศักยภาพการแพทย์เชิงป้องกัน พัฒนา DeepGI AI นวัตกรรมตรวจจำแนกชิ้นเนื้อเสี่ยงมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบแม่นยำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรพล เวทีกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในการสร้างนวัตกรรม AI ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาเครื่องตรวจทางเดินอาหารอัจฉริยะ “DeepGI” เพื่อช่วยตรวจจับติ่งเนื้อที่มีความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (Chulalongkorn University Technology Center : UTC) และบริษัท อีเอสเอ็ม โซลูชั่น จำกัด คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บข้อมูลวิจัยมาตั้งแต่ปี 2562 จนพัฒนา AI ตรวจจับความผิดปกติในทางเดินอาหาร (DeepGI – Deep Technology for Gastrointestinal Tracts) ได้สำเร็จ และทดลองให้บริการคนไข้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ แล้วตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา

 

โรคมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งสถิติโลกชี้ว่าเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับสามและสี่ตามลำดับ (รองจากโรคมะเร็งปอดและตับ) โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ในกลุ่มคนไข้สูงอายุในประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น

 

ปัจจุบันสถิติผู้สูงอายุ (เกิน 50 ปี) ในประเทศไทยปี 2564 มีจำนวนกว่า 15 ล้านคน ซึ่งเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร  

ได้มีการแนะนำให้ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจช่องท้องเป็นประจำทุกๆ 5-10 ปี ซึ่งหากประชากรกลุ่มนี้เข้าถึงบริการสาธารณสุขดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง ก็จะเป็นแนวทาง “เวชศาสตร์ป้องกัน” (Preventive Medicine) ที่ให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจและรักษาได้อย่างทันท่วงทีในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะสามารถลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

 

สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เราสังเกตได้ด้วยตัวเองมีอาทิ อุจจาระมีมูกปนเปื้อน คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อยด้านขวา ขนาดอุจจาระลีบเล็ก (ผลจากขนาดชิ้นเนื้อมะเร็งที่ใหญ่อุดทางเดินลำไส้) ถ่ายอุจจาระไม่ปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสียเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ฯลฯ มักเป็นอาการที่โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ในระยะที่ลุกลามแล้ว

“ดังนั้นจึงไม่ควรรอให้เกิดอาการแต่ถ้าอายุเกิน 50 ปีหรือมีปัจจัยเสี่ยง ควรให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยร่างกายด้วยการส่องกล้องหรือการคัดกรองอื่นตามมาตรฐาน โดยเฉพาะผู้ทีมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเคยป่วยเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง”

 

ปัจจุบัน การส่องกล้องผ่านช่องทวารหนัก (ตรวจลำไส้ใหญ่) หรือระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย เป็นวิธีการมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติต่างๆ เช่น ติ่งเนื้อ ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งการตรวจจับความผิดปกติค่อนข้างมีความท้าทายมาก เนื่องจากลักษณะของติ่งเนื้อมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น แบบที่นูน และแบบที่แบนราบไปกับผนังลำไส้ อีกทั้งอาจจะมีขนาดที่เล็ก และสีที่กลมกลืนไปกับบริเวณโดยรอบ จึงทำให้การตรวจวินิจฉัยจึงผิดพลาดได้ง่ายหากแพทย์ขาดประสบการณ์หรืออุปกรณ์การแพทย์ไม่ครบเครื่อง จากสถิติพบว่าการตรวจอาจผิดพลาดได้ถึง 22% โดยประมาณ

 

ผศ.ดร.พีรพล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงจุดเด่นของ DeepGI ว่า

DeepGI เป็นระบบตรวจความผิดปกติในทางเดินอาหารที่มีจุดเด่น 4 ประการ ดังนี้

 

  1. Deep Technology เทคโนโลยีขั้นสูงของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียกว่าการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) มาช่วยตรวจจับ (Detection) พร้อมแยกประเภทชิ้นเนื้อผิดปกติ (Characterization) แบบ real-time ด้วยความแม่นยำสูงสุด
  2.  Vendor Unlock รองรับกล้องส่องทางเดินอาหารทุกแบรนด์และทุกรุ่น
  3. Extensible Future ต่อยอดได้อีกในอนาคตเพื่อตรวจหาชิ้นเนื้อผิดปกติตามจุดอื่น ๆ ภายในร่างกาย เช่น ท่อน้ำดีและกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  4. Affordable ราคาต่ำกว่าระบบอื่นในตลาด ซึ่งโรงพยาบาลหรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้เพิ่มศักยภาพการตรวจ ขยายผลสู่แพทย์ชนบท

 

ผศ.ดร.พีรพล กล่าวว่า ปัจจุบัน DeepGI อยู่ระหว่างการยื่นขอจดสิทธิบัตรระดับชาติ และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีระดับ 5 (Technology Readiness Level 5, TRL5)

 

“ปัจจุบัน DeepGI นอกเหนือจากช่วยในการตรวจจับติ่งเนื้อ ยังสามารถระบุชนิดของชิ้นเนื้อได้ด้วยว่าเป็นติ่งเนื้อที่เป็นเนื้อร้าย (Neoplastic) หรือเป็นติ่งเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อร้าย (Hyperplastic) โดยไม่จำเป็นต้องตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาทดสอบ และเรากำลังขยายขีดความสามารถของ DeepGI ในการตรวจหาความผิดปกติไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่นกระเพาะอาหาร และท่อน้ำดี”

 

ผลงานชิ้นสำคัญนี้ ร่วมพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรพล เวทีกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สติมัย อนิวรรณน์ และ อาจารย์ แพทย์หญิง เกศินี เธียรกานนท์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

สำหรับสถานพยาบาลที่สนใจ DeepGI สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ผศ.ดร.พีรพล เวทีกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยประสานผ่านอีเมล [email protected] หรือผ่านทางเว็บไซต์ https://deepgi.cp.eng.chula.ac.th/

ส่วนคนทั่วไปที่ต้องการเข้ารับบริการด้วยนวัตกรรมระบบตรวจความผิดปกติในทางเดินอาหาร (DeepGI) เพื่อป้องกันโรคมะเร็งทางเดินอาหาร สามารถนัดหมายเพื่อขอรับบริการได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 10 โซน A หมายเลขโทรศัพท์ 02-256-4000 ต่อ 81001-2

 

  • สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร รพ.จุฬาฯ แนะข้อสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งหากพบหลายอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยร่างกายโดยละเอียดและรับการรักษา

✓ อุจจาระมีมูกปนเปื้อน

✓ เลือดออกทางทวารหนัก

✓ ปวดท้องน้อย (ปวดบิด ๆ )

✓ คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อยด้านขวา

✓ ขนาดอุจจาระลีบเล็ก (ผลจากขนาดชิ้นเนื้อมะเร็งที่ใหญ่อุดทางเดินลำไส้)

✓ ถ่ายอุจจาระไม่ปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสียเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายน้อยลง

✓ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร

✓ สีหน้าซีดเซียวจากการเสียเลือด

✓ ปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ผายลมลดลง อันเกิดจากลำไส้อุดตัน