ยังหนุ่ม ยังสาว แต่ทำไม ‘กระดูกพรุน’?

28 ม.ค. 2565 | 08:50 น.

วัยหนุ่มสาวหลายคนมักสนใจทำแต่งาน จนละเลยไม่ได้ใส่ใจสุขภาพของตัวเอง โดยเฉพาะ “กระดูก” อวัยวะสำคัญที่ถูกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเราทำลายมวลกระดูก ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน จากการเสื่อมเร็วขึ้นแบบไม่รู้ตัว

ส่วนปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้มวลกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำกันจนเคยชิน ทั้งเครียดกับงาน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ใส่รองเท้าส้นสูง ชอบดื่มน้ำอัดลม ตกเย็นนั่งดื่มกับเพื่อน พักผ่อนน้อย ทุกเช้าต้องดื่มกาแฟ พฤติกรรมซ้ำๆ วนๆหลาย ปี ยิ่งเร่งให้กระดูกพรุนมาเยือนเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอจนอายุมาก

กระดูกพรุน

แถมสิ่งที่ตามมากับกระดูกพรุนคือ ความเสี่ยงที่กระดูกจะแตกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แค่มีแรงกระแทกเบา ๆ การบิดเอี้ยวตัวอย่างทันทีทันใด หรือแม้แต่พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่าง ไอ จาม หรือลื่นล้ม ก็อาจทำให้กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลังหักได้ง่ายเสี่ยงพิการหรือทุพพลภาพ ตามมาพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง และค่ารักษาพยาบาลที่ตามติดเป็นเงาตามตัว

ดังนั้นแม้ว่าอายุยังน้อยก็อย่านิ่งนอนใจ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าและเร็วกว่าผู้ชายเพราะมีเนื้อกระดูกน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 10-30% ยิ่งเมื่อหมดประจำเดือน หรือผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างออกแล้วการสลายกระดูกจะเพิ่มขึ้นมากจากขาดฮอร์โมนเพศและเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ถึง 40-50%

กระดูกพรุน

ฉะนั้นถ้าไม่อยากกระดูกพรุนก่อนวัยต้องรีบเสริมสร้างกระดูก ให้แข็งแรง ด้วยการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็กๆ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงยกของหนักๆ รวมถึงตรวจมวลกระดูกเป็นประจำ ก็จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อีกทาง

 

ที่สำคัญ! ควรทำตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเพราะหลังอายุ 35 ปีไปแล้ว จะทำได้เพียงชะลอการเสื่อมของกระดูกเท่านั้น

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,751 วันที่ 23 - 26 มกราคม พ.ศ. 2565