ทาเคดา ผนึกพันธมิตร ร่วมกำหนดทิศทางด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหายาก

25 ม.ค. 2565 | 04:10 น.

ทาเคดา ประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรจัดการประชุมระดับภูมิภาค ‘The first Southeast Asia Rare Disease Summit’ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางด้านการดูแลและการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคหายาก

สมาคมเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ (สวพจ) สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก และ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันจัดการประชุมระดับภูมิภาค ‘The first Southeast Asia Rare Disease Summit’ ภายใต้หัวข้อ ‘Bringing Rarity to Reality’ ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2565 เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความตระหนักให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจปัญหาและความท้าทายในการดูแลและรักษาโรคหายากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น 

ทาเคดา ผนึกพันธมิตร ร่วมกำหนดทิศทางด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหายาก

ในงานได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหายากทั้ง แพทย์ นักวิจัย ตัวแทนผู้ป่วย ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอื่น ๆ ได้แก่อินเดีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน 

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กลไกสำคัญในการบรรเทาปัญหาของการจัดการโรคหายาก คือ การที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุ 24 โรคหายากเข้าสู่ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2563 นับเป็นก้าวแรกและก้าวที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ 

ทาเคดา ผนึกพันธมิตร ร่วมกำหนดทิศทางด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหายาก

สำหรับงานประชุมระดับภูมิภาค The first Southeast Asia Rare Disease Summit เป็นโอกาสดีที่ภาคส่วนต่าง ๆ จากหลากหลายประเทศที่ทำงานด้านโรคหายากได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และถกถึงปัญหาต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาด้านการวินิจฉัยโรคและการเข้าถึงการรักษาอย่างยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว

ศ.นพ. ธันยชัย สุระ ประธานสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APSHG) และนายกสมาคมเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ (สวพจ) และหนึ่งในผู้ร่วมจัดงาน กล่าวว่า ความท้าทายของโรคหายากที่ประเทศไทยและหลายประเทศต้องเผชิญคือ ข้อมูลทางการแพทย์ที่มีจำกัด เนื่องจากมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและเฉพาะทางอยู่ไม่มากส่งผลต่อความล่าช้าในการวินิจฉัยและการเข้ารับการรักษาดูแลที่ถูกต้องและตรงจุด 

ทาเคดา ผนึกพันธมิตร ร่วมกำหนดทิศทางด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหายาก

การประชุม ‘The first Southeast Asia Rare Disease Summit’ จึงมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคหายาก ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านกรณีศึกษาจากหลากหลายประเทศในภูมิภาค ในบริบทของการวิจัย การเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย การสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย นโยบายด้านสาธารณสุข และรับฟังเสียงของผู้ป่วยโรคหายากที่จะช่วยสร้างความตระหนักให้กับสังคมในวงกว้าง ไปจนถึงภาครัฐที่จะเป็นตัวแปรในการขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ

 

นายปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศด้านการดูแลผู้ป่วยโรคหายากได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งในระดับนโยบาย การผลักดันให้เกิดแผนงาน และการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลเหล่านั้นให้สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ 

ทาเคดา ผนึกพันธมิตร ร่วมกำหนดทิศทางด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหายาก

ทาเคดา ในฐานะบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลก เราดำเนินธุรกิจโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เน้นการสร้างคุณค่า และขับเคลื่อนด้วยการวิจัยและพัฒนา มุ่งมั่นในการสนับสนุนชุมชนโรคหายากผ่านความร่วมมือกับองค์กรแพทย์และกลุ่มตัวแทนผู้ป่วยเพื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ในโรคหายากทั้งในเชิงวิชาการและภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ครั้งนี้ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญอย่าง สมาคมเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก ในการจัดงานประชุมระดับภูมิภาค ‘The first Southeast Asia Rare Disease Summit’ ที่จะช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ และสนับสนุนให้เกิดการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและการวิจัยที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหายากรวมไปถึงผู้ดูแล โดยจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

การประชุมระดับภูมิภาค ‘The first Southeast Asia Rare Disease Summit’ ภายใต้หัวข้อ ‘Bringing Rarity to Reality’ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2565 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหายากจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมให้ความรู้และตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนชุมชนโรคหายากในหลากหลายมิติ และต้อนรับผู้ร่วมงานจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 500 คน เข้าร่วมฟังการบรรยายเพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหายากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น