แพทย์เตือนภัยประชาชนร่วมมือป้องกันโรคไข้เลือดออก

30 มิ.ย. 2564 | 13:05 น.

แพทย์เตือนภัยประชาชนร่วมมือป้องกันโรคไข้เลือดออก หลังประชาชนให้ความสนใจแต่โควิด-19 ชี้สามารถเกิดได้กับทุกวัย

สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 (Covid-19) ยังเป็นความกังวลอันดับต้นๆด้านสุขภาพอนามัยของคนไทย จนอาจทำให้มองข้ามประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดอื่นที่มีความชุกในการแพร่ระบาดมากที่สุดในช่วงหน้าฝนนี้ นั่นคือ โรคไข้เลือดออก
    ทุกปีเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะเพิ่มมากกว่าทุกช่วงของทั้งปี โดยค่าเฉลี่ยใน3 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเกือบ100,000 รายต่อปี ทำให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสมาคมวิชาชีพต่างๆ จะร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับ โรคไข้เลือดออก และจัดให้วันไข้เลือดออกอาเซียน (15 มิถุนายน) เป็นวาระสำคัญต่อการเน้นย้ำให้ประชาชนในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศที่ยังคงเผชิญภัยร้ายจากโรคไข้เลือดออกได้มีความตระหนักในการร่วมมือป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกซึ่งสาเหตุมาจากยุงลาย เนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นพื้นที่ระบาดของโรคนี้มากที่สุดในโลก
    ปัจจุบัน ไข้เลือดออกถูกจัดเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศในเขตร้อนชื้นรวมถึงประเทศไทย ซึ่งยังคงมีการระบาดเป็นประจำตลอดทั้งปีแต่จะชุกมากในช่วงฤดูฝน 
    แพทย์หญิงอุษา ทิสยากร กุมารแพทย์ และผู้อำนวยการระดับสูง คลัสเตอร์วิจัยอายุรศาสตร์เขตร้อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกมานานกว่า 50 ปี ระบุว่า ตอนนี้คนมุ่งความสนใจไปที่โควิด-19 มากเพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ อาจลืมไปว่ายังมีโรคไข้เลือดออกกำลังระบาดอยู่เช่นกัน ประชาชนจึงต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อการสังเกตตัวเองเช่น โควิด -19 เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จะมีไข้ ไอ เจ็บคอ เมื่อเชื้อลงปอดทำให้มีอาการรุนแรง แต่ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดกับคนทุกวัย อาการมีไข้สูง 2-3 วัน ปวดหัว ปวดตัว หน้าแดง อ่อนเพลีย และแทบจะไม่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ อาการของโรคมีตั้งแต่ระดับน้อยไปจนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ความต่างที่ชัดเจนของทั้งสองโรคคือ โควิด-19 แพร่จากคนสู่คนได้ แต่ไข้เลือดออกแพร่เชื้อจากพาหะยุงลาย การป้องกันที่ดีคือ ไม่ให้ยุงกัด และทุกคนต้องช่วยกันกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายในบ้าน บริเวณที่พักอาศัยและในแหล่งชุมชน
    ทั้งนี้ นอกจากการป้องกันตนเองโดยวิธีข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวิธีการป้องกันที่เป็นความหวัง หากการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพนั้นสำเร็จ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการพัฒนาศึกษาวิจัยวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกลุ่มอาเซียนในการควบคุมโรคไข้เลือดออก นั่นคือ หากมีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติ โดยเฉพาะในประเทศที่มีโรคไข้เลือดออกระบาดมาก ก็ควรนำมาใช้ป้องกันโรค

แพทย์หญิงอุษา ทิสยากร
    "สำคัญที่สุดตอนนี้ที่ต้องเน้นย้ำประชาชนในการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก คือ การตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาเพราะไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต และเป็นโรคที่ตอนนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ปัจจุบันโรคไข้เลือดออก หรือโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี กำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชากรโลก แม้การแพร่ระบาดชุกมากในประเทศเขตร้อนชื้น แต่ก็พบว่ามีการระบาดของไข้เลือดออกซึ่งมียุงลายเป็นพาหะในภูมิภาคอื่นเพิ่มขึ้นด้วย สาเหตุเพราะมีการขยายตัวของชุมชนและประชากร วันไข้เลือดออกอาเซียนปี 2564 (ASEAN Dengue Day) จึงถูกผลักดันให้เป็นวันไข้เลือดออกโลก (World Dengue Day) ครั้งแรกในปีนี้ด้วยเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในระดับโลกสำหรับการรับมือโรคไข้เลือดออก"
    นายแพทย์พิชัย คณิตจรัสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วันไข้เลือดออกอาเซียนในปีนี้ เป็นช่วงเดียวกับที่ทางทาเคดา ประเทศญี่ปุ่นดำเนินงานมาครบ 240 ปี สำหรับในเมืองไทย ทาเคดาดำเนินงานมาแล้ว 52 ปีด้วยความตั้งใจที่จะดูแลสุขภาพคนไทยโดยใช้ความเชี่ยวชาญที่มีในด้านการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน
    ปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกมีความก้าวหน้าไปมาก ขณะนี้การดำเนินงานของทาเคดาอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกโดยผลจากการทดสอบวัคซีนในระยะที่ 3 ของวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ได้ผ่านเกณฑ์วัดหลักและรองเรียบร้อยแล้ว การทดสอบในเฟสนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการว่าเกิดจากไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ ผลทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนเป็นที่น่าพอใจและยังไม่พบปัญหาด้านความปลอดภัยที่สำคัญ ทั้งนี้ทาเคดาจะนำเสนอและเผยแพร่รายละเอียดของข้อมูลการศึกษาทดลองระยะเวลา 36 เดือนในการประชุมทางวิทยาศาสตร์และในวารสารวิชาการที่ผ่านการตรวจสอบในปีนี้และเตรียมขอขึ้นทะเบียนยากับหน่วยงานควบคุมยาแห่งสหภาพยุโรป ละตินอเมริกา เอเชีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยด้วย